วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550

สารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ

ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
ข้อมูล, สารสนเทศ และการจัดการ
ข้อมูล (Data) หมายถึงค่าความจริง ซึ่งแสดงถึงความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้น เช่น ชื่อพนักงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานในหนึ่งสัปดาห์, จำนวนสินค้าที่อยู่ในคลังสินค้า เป็นต้น ข้อมูลมีหลายประเภท เช่น ข้อมูลตัวเลข ข้อมูล ตัวอักษร ข้อมูลรูปภาพ ข้อมูลเสียงและข้อมูลภาพเคลื่อนไหว ซึ่งข้อมูลชนิดต่างๆ เหล่านี้ใช้ในการนำเสนอค่าความจริงต่างๆ โดยค่าความจริงที่ถูกนำมาจัดการและปรับแต่งเพื่อให้มีความหมายแล้ว จะเปลี่ยนเป็นสารสนเทศ
สารสนเทศ (Information) หมายถึงกลุ่มข้อมูลที่ถูกจัดการตามกฎหรือ ถูกกำหนดความสัมพันธ์ให้ เพื่อให้ข้อมูลเหล่านั้นเกิดประโยชน์หรือมีความหมายเพิ่มมากขึ้น ประเภทของสารสนเทศขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่มีอยู่ ตัวอย่างเช่น จำนวนยอดขายของตัวแทนจำหน่ายแต่ละคนในเดือนมกราคมจัดเป็นข้อมูล เมื่อนำมาประมวลผลรวมกันทำให้ได้ยอดขายรายเดือนของเดือนมกราคม ทำให้ผู้บริหารสามารถนำยอดขายรายเดือนมาพิจารณาว่ายอดขายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กรหรือไม่ได้ง่ายขึ้น ยอดขายรายเดือนนี้จึงจัดเป็นสารสนเทศ หรือตัวอย่าง เช่น ตัวเลข 1.1, 1.5, และ 1.6 จัดเป็นข้อมูลตัวเลข เนื่องจากเป็นค่าความจริงซึ่งยังไม่สามารถแปลความหมายใดๆ ได้แต่ข้อมูลเหล่านี้จัดเป็นสารสนเทศเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่บ่งบอกความหมายของข้อมูลได้มากขึ้น เช่น เมื่อกล่าวว่า ตัวเลขเหล่านี้คือยอดขายประจำเดือนมกราคม กุมภาพันธ์และมีนาคม โดยมีหน่วยเป็นหลักล้าน จะทำให้ตัวเลขทั้ง 3 มี ความหมายเกิดขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่ายอดขายเฉลี่ยระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมมีค่าเท่ากับ 1.4 ล้าน จัดเป็น สารสนเทศที่เกิดขึ้นจากข้อมูลตัวเลขทั้ง 3
ขบวนการ (Process) หมายถึงการแปลงข้อมูลให้เปลี่ยนเป็นสารสนเทศหรือกล่าวได้ว่า ขบวนการคือกลุ่มของงานที่สัมพันธ์กัน เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการ รูปที่ 1 แสดงขบวนการแปลงข้อมูลเป็นสารสนเทศ



การจัดการ (Management) หมายถึงการบริหารอย่างมีระบบ ซึ่งประกอบด้วยการกำหนดเป้าหมายและ ทิศทางขององค์กรและการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ซึ่งจะต้องมีการวางแผน การจัดการ การกำหนดทิศทางและการควบคุมเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม
แนวคิดของระบบและการทำตัวแบบ
ระบบ (System) หมายถึงกลุ่มส่วนประกอบหรือระบบย่อยต่างๆที่มีการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยส่วนประกอบและความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบต่างๆ ในระบบ จะเป็นตัวกำหนดว่าระบบจะสามารถทำงานได้อย่างไร เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ โดยระบบแต่ละระบบถูกจำกัดด้วยขอบเขต (System Boundary) ซึ่งจะเป็นตัวแยกระบบนั้นๆ ออกจากสิ่งแวดล้อม ดังแสดงความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆในระบบดังรูปที่ 2



ประเภทของระบบ
ระบบสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆได้หลายกลุ่ม ดังนี้
1. ระบบอย่างง่าย(Simple) และระบบที่ซับซ้อน (Complex)- ระบบอย่างง่าย (Simple) หมายถึง ระบบที่มีส่วนประกอบน้อยและความสัมพันธ์หรือการโต้ตอบระหว่างส่วนประกอบต่างๆ ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา- ระบบที่ซับซ้อน (Complex) หมายถึง ระบบที่มีส่วนประกอบมากหลายส่วน แต่ละส่วนมีความสัมพันธ์และมีความเกี่ยวข้องกันค่อนข้างมาก2. ระบบเปิด(Open) และระบบปิด (Close)- ระบบเปิด (Open) คือ ระบบที่มีการโต้ตอบกับสิ่งแวดล้อม- ระบบปิด (Close) คือ ระบบที่ไม่มีการโต้ตอบกับสิ่งแวดล้อม3. ระบบคงที่ (Static) และระบบเคลื่อนไหว (Dynamic)- ระบบคงที่ (Static) คือ ระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากเมื่อเวลาผ่านไป- ระบบเคลื่อนไหว (Dynamic) คือ ระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างคงที่ตลอดเวลา4. ระบบที่ปรับเปลี่ยนได้ (Adaptive) และระบบที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ (Nonadaptive)- ระบบที่ปรับเปลี่ยนได้ (Adaptive) คือระบบที่สามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโต้กับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้- ระบบที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ (Nonadaptive) คือระบบที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบโต้กับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้5. ระบบถาวร (Permanent) และระบบชั่วคราว (Temporary)- ระบบถาวร(Permanent) คือระบบที่มีอยู่ในช่วงระยะเวลายาวนาน- ระบบชั่วคราว(Temporary) คือระบบที่มีอยู่เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ

ประสิทธิภาพของระบบ
ประสิทธิภาพของระบบสามารถวัดได้หลายทาง ได้แก่
ประสิทธิภาพ (Efficiency) คือการวัดสิ่งที่ถูกผลิตออกมา หารด้วยสิ่งที่ถูกใช้ไป สามารถแบ่งช่วงจาก 0 ถึง 100% ตัวอย่างเช่น ประสิทธิภาพของเครื่องมอเตอร์เครื่องหนึ่งคือพลังงานที่ผลิตออกมา (ในรูปของงานที่ทำเสร็จ) หารด้วยได้พลังงานที่ใช้ไป (ในรูปของไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิง) เครื่องมอเตอร์บางเครื่องมีประสิทธิภาพ 50% หรือน้อยกว่า เนื่องจากพลังงานสูญเสียไปในการเสียดทาน และกำเนิดความร้อน ประสิทธิผล (Effectiveness) คือการวัดระดับการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายของระบบ สามารถคำนวณได้ด้วยการ หารสิ่งที่ได้รับจากการประสบผลสำเร็จจริง ด้วยเป้าหมายรวม เช่น บริษัทหนึ่งมีเป้าหมายในการลดชิ้นส่วนที่เสียหาย 100 หน่วย เมื่อนำระบบการควบคุมใหม่มาใช้อาจจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ ถ้าระบบควบคุมใหม่นี้สามารถลดจำนวนชิ้นส่วนที่เสียหายได้เพียง 85 หน่วย ดังนั้นระดับของประสิทธิผลของระบบควบคุมนี้จะเท่ากับ 85%
การทำตัวแบบของระบบ
ในโลกแห่งความเป็นจริงค่อนข้างซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อต้องการทดสอบความสัมพันธ์แบบต่างๆ และสังเกตผลที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้ตัวแบบของระบบนั้นๆ แทนที่จะทดลองกับระบบจริง ตัวแบบ (Model) คือตัวแทนซึ่งเป็นแนวคิดหรือเป็นการประมาณเพื่อใช้ในการแสดงการทำงานของระบบจริง ตัวแบบสามารถช่วยสามารถสังเกตและเกิดความเข้าใจต่อผลลัพธ์อาจเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ ตัวแบบมีหลายชนิด ได้แก่
1. .
TC = (V)(X)+FC
โดยที่
TC = ค่าใช้จ่ายรวม V = ค่าใช้จ่ายผันแปรต่อหน่วยX = จำนวนหน่วยที่ถูกผลิตFC = ค่าใช้จ่ายคงที่
ในการสร้างตัวแบบแบบใดๆ จะต้องพยายามทำให้ตัวแบบนั้นๆสามารถเป็นตัวแทนระบบจริงได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ได้ทางแก้ปัญหาของระบบที่ถูกต้องมากที่สุด
ความหมายและบทบาทของระบบสารสนเทศ
ระบบสารสนเทศ (Information System หรือ IS) คือระบบแบบเฉพาะเจาะจงชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มของส่วนประกอบพื้นฐานต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกันในการเก็บ (นำเข้า), จัดการ (ประมวลผล) และเผยแพร่(แสดงผล) ข้อมูลและสารสนเทศและสนับสนุนกลไกลของผลสะท้อนกลับ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

ส่วนประกอบของสารสนเทศ

1. ส่วนที่นำเข้า (Inputs) ได้แก่การรวบรวมและการจัดเตรียมข้อมูลดิบ ส่วนที่นำเข้านี้สามารถมีได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการโทรเข้าเพื่อขอข้อมูลในระบบสอบถามเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลที่ลูกค้ากรอกในใบ สอบถามการให้บริการของร้านค้าฯลฯ ขึ้นอยู่กับส่วนแสดงผลที่ต้องการ ส่วนที่นำเข้านี้อาจเป็นขบวนการที่ทำด้วยตัวเองหรือเป็นแบบอัตโนมัติก็ได้ เช่นการอ่านข้อมูลรายชื่อสินค้าและรายราคาโดยเครื่องอ่าน บาร์โค้ดของห้างสรรพสินค้า จัดเป็นส่วนที่นำเข้าแบบอัตโนมัติ
2. การประมวลผล (Processing) เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนและการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปของส่วนแสดงผลที่มีประโยชน์ ตัวอย่างของการประมวลผลได้แก่การคำนวณ การเปรียบเทียบ การเลือกทางเลือกในการปฏิบัติงานและการเก็บข้อมูลไว้ใช้ในอนาคต โดยการประมวลผลสามารถทำได้ด้วยตนเองหรือสามารถใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยก็ได้ ตัวอย่างเช่น ระบบคิดเงินเดือนพนักงาน สามารถคิดได้จากการนำจำนวน ชั่วโมงการทำงานของพนักงานคูณเข้ากับอัตราค่าจ้างเพื่อให้ได้ยอดเงินรวมที่ต้องจ่ายรวม ถ้าชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์มากกว่า 40 ชั่วโมงอาจมีการคิดเงินล่วงเวลาให้ โดยเพิ่มเข้าไปกับเงินรวม จากนั้นอาจจะทำการหักภาษีพนักงาน โดยการนำเงินรวมมาคิดภาษีและนำเงินรวมมาลบด้วยภาษีที่คำนวณได้ จะทำให้ได้เงินสุทธิที่ต้องจ่ายให้กับพนักงาน
3. ส่วนที่แสดงผล (Outputs) เกี่ยวข้องกับการผลิตสารสนเทศที่มีประโยชน์ มักจะอยู่ในรูปของเอกสาร หรือรายงานหรืออาจะเป็นเช็คที่จ่ายให้กับพนักงาน รายงานที่นำเสนอผู้บริหารและสารสนเทศที่ถูกผลิตออกมาให้กับผู้ถือหุ้น ธนาคาร หรือกลุ่มอื่นๆ โดยส่วนแสดงผลของระบบหนึ่งอาจใช้เป็นส่วนที่นำเข้าเพื่อควบคุมระบบหรืออุปกรณ์อื่นๆ ก็ได้ เช่นในขบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ พนักงานขาย ลูกค้า และ นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์อาจจะทำการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยอาจจะใช้ซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการออกแบบนี้ด้วย จนกระทั่งได้ต้นแบบที่ตรงความต้องการมากที่สุด จึงส่งแบบนั้นไปทำการผลิต จะเห็นว่าแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ได้จากการออกแบบแต่ละครั้งจะเป็นส่วนที่ถูกนำไปปรับปรุงการออกแบบในครั้งต่อๆ ไป จนกระทั่งได้แบบ สุดท้ายออกมา อาจอยู่ในรูปของสิ่งพิมพ์ที่ออกมาจากเครื่องพิมพ์หรือแสดงอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่เป็นอุปกรณ์แสดงผลตัวหนึ่งหรืออาจจะอยู่ในรูปของรายงานและเอกสารที่เขียนด้วยมือก็ได้
4. ผลสะท้อนกลับ (Feedback) คือส่วนแสดงผลที่ใช้ในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อส่วนที่นำเข้าหรือส่วนประมวลผล เช่น ความผิดพลาดหรือปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจำเป็นต้องแก้ไขข้อมูลนำเข้าหรือทำการเปลี่ยนแปลงการประมวลผลเพื่อให้ได้ส่วนแสดงผลที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ระบบการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ถ้าทำการป้อนชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์เป็น 400 แทนที่จะเป็น 40 ชั่วโมง ถ้าทำการกำหนดให้ระบบตรวจสอบค่าชั่วโมงการทำงานให้อยู่ในช่วง 0-100 ชั่วโมง ดังนั้นเมื่อพบข้อมูลนี้เป็น 400 ชั่วโมง ระบบจะทำการส่งผลสะท้อนกลับออกมา อาจจะอยู่ในรูปของรายงานความผิดพลาด ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบและแก้ไขจำนวนชั่วโมงการทำงานที่นำเข้ามาคำนวณให้ถูกต้องได้

ตัวอย่าง เช่น ระบบล้างรถอัตโนมัติ
ระบบสารสนเทศประกอบด้วย

ส่วนที่นำเข้า คือ รถที่สกปรก น้ำ และน้ำยาต่างๆ ที่ใช้ในการล้างรถ เวลาและพลังงานถูกใช้ในการปฏิบัติการล้างรถ ทักษะได้แก่ความสามารถเฉพาะอย่างจะถูกนำมาใช้ในการฉีดสเปรย์ ขัดโฟม และเป่าแห้ง ความรู้ถูกนำมาใช้ในการกำหนดขั้นตอนการทำงานของการล้างรถให้ทำงานไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง การประมวลผล ประกอบด้วย ขั้นที่หนึ่ง การเลือกประเภทการล้างรถที่ต้องการ เช่น ล้างอย่างเดียว ล้างและขัดเงา ล้างและขัดเงาและเป่าแห้งฯลฯ และขั้นต่อไปทำการนำรถเข้าไปในเครื่องล้างรถ (สังเกตว่าในส่วนนี้จะเกิดกลไกของผลสะท้อนกลับขึ้น ได้แก่การประเมินผลของเจ้าของรถที่มีต่อขบวนการล้างรถที่กำลังเกิดขึ้น) จากนั้นของฉีดของเหลวจะฉีดน้ำ สบู่เหลว หรือครีมขัดเงาไปที่รถ ขึ้นอยู่กับตัวเลือกที่เลือกไว้ในตอนต้น ส่วนที่แสดงผล คือรถที่สะอาดแล้วจากตัวอย่าง จะเห็นว่าส่วนประกอบอิสระต่างๆ ในระบบล้างรถอัตโนมัติ เช่นเครื่องฉีดของเหลว แปลงสำหรับทางโฟม และเครื่องเป่าแห้ง ทำงานโต้ตอบกัน เพื่อให้รถสะอาดนั่นเอง
ระบบสารสนเทศที่ใช้คอมพิวเตอร์ (Computer-Based Information Systems : CBIS)
ระบบสารสนเทศที่ใช้คอมพิวเตอร์ประกอบด้วย ฮาร์ดแวร์ (Hardware), ซอฟต์แวร์ (Software), ข้อมูล(Data), บุคคล (People), ขบวนการ (Procedure) และการสื่อสารข้อมูล (Telecommunication) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อทำการรวบรวม, จัดการ จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ รูปที่ 4 แสดงส่วนประกอบของระบบ สารสนเทศที่ใช้คอมพิวเตอร์

1. ฮาร์ดแวร์ คืออุปกรณ์ทางกายภาพ ที่ใช้ในการรวบรวม การนำเข้า และการจัดเก็บข้อมูล, ประมวลผล ข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ และแสดงสารสนเทศที่เป็นผลลัพธ์ออกมา 2. ซอฟต์แวร์ ประกอบด้วยกลุ่มของโปรแกรมที่ใช้ในการปฏิบัติงานร่วมกับฮาร์ดแวร์และใช้ในการประมวลผลข้อมูลเป็นสารสนเทศ3. ข้อมูล ในส่วนนี้หมายถึงข้อมูลและสารสนเทศที่ถูกเก็บอยู่ในฐานข้อมูล โดยฐานข้อมูล (Database) หมายถึงกลุ่มของค่าความจริงและสารสนเทศที่มีความเกี่ยวข้องกันนั่นเอง4. บุคคล หมายถึงบุคคลที่ใช้งานและปฏิบัติงานร่วมกับระบบสารสนเทศ5. ขบวนการ หมายถึงกลุ่มของคำสั่งหรือกฎ ที่แนะนำวิธีการปฏิบัติงานกับคอมพิวเตอร์ในระบบสารสนเทศ ซึ่งอาจได้แก่การแนะนำการควบคุมการเข้าใช้งานคอมพิวเตอร์, วิธีการสำรองสารสนเทศในระบบและวิธีจัดการกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้6. การสื่อสารข้อมูล หมายถึงการส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดต่อสื่อสาร และช่วยให้องค์กรสามารถเชื่อมระบบคอมพิวเตอร์เข้ากับระบบเครือข่าย (Network) ที่มีประสิทธิภาพได้ โดยเครือข่ายใช้ในการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ไว้ด้วยกัน อาจจะเป็นภายในอาคารเดียวกัน ในประเทศเดียวกัน หรือทั่วโลก เพื่อให้สามารถสื่อสารข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้

ระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริหาร
ระบบสารสนเทศที่มีการจัดการกับสารสนเทศและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารให้เกิดประสิทธิผล เรียกว่าระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการ บริหาร โดยเน้นเรื่องการสนับสนุนการตัดสินใจในระดับการจัดการระดับต่างๆ ไม่เน้นที่การประมวลข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการทางธุรกิจและเน้นที่โครงร่างของระบบควรจะถูกใช้ในการ จัดการการใช้งานระบบสารสนเทศ

บทบาทของการจัดการในองค์กร
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ สนับสนุนบทบาทในการจัดการของผู้บริหาร ดังนี้
1.การวางแผน (Plan) หมายถึง การกำหนดเป้าหมาย และกลยุทธ์ในการบริหารองค์กร2. การจัดการ (Organize) หมายถึง การจัดสรรทรัพยากรที่ต้องการนำมาใช้ในองค์กร3. การเป็นผู้นำ (Lead) หมายถึง การกระตุ้นพนักงาน เพื่อให้ปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมาย4. การควบคุม (Control) หมายถึง การควบคุมดูแล เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าไปยังเป้าหมายที่วางไว้
จากบทบาทในการจัดการต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น สารสนเทศจึงเป็นส่วนที่สำคัญมากในการที่ผู้บริหารจะดำเนินงานเหล่านี้ให้สำเร็จ เช่น สารสนเทศเกี่ยวกับการขาย, การผลิตและการเงิน เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ ควบคุมการปฏิบัติงานรายวันขององค์กร การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการจะต้องเป็นไปตามการจัดองค์กรและกลยุทธ์ขององค์กรนั้นๆ ผู้จัดการต้องเป็นผู้กระทำและจัดการพฤติกรรมขององค์กรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่นการควบคุมองค์กรให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการทำงานหรือจะเป็นการตรวจสอบว่าบุคคลที่ได้รับมอบหมายงานไปนั้นสามารถปฏิบัติงานตามที่ต้องการได้หรือไม่ โดยอาจกำหนดให้มีการฝึกอบรมพนักงานก่อนเริ่มปฏิบัติงานนั้นๆ ผู้จัดการต่างๆ ต้องการสารสนเทศที่แตกต่างกัน เพื่อที่จะนำไปใช้ในการทำงานของตน ดังนั้นในส่วนต่อไปจะอธิบายถึงความต้องการของสารสนเทศของการจัดการในระดับต่างๆ


ระดับของการจัดการและการดำเนินการ
ระดับของการจัดการ (Levels of Management)
การทำความเข้าใจระบบสารสนเทศแบบต่างๆ ภายในองค์กร และทราบว่าระบบต่างๆ สามารถรองรับความต้องการของการบริหารได้อย่างไร จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับระดับของการจัดการระดับต่างๆ ขององค์กรก่อน ซึ่งระดับของการจัดการแบ่งออกเป็นระดับกลยุทธ์ (Strategic), ระดับยุทธวิธี (Tactical), และระดับปฏิบัติการ(Operation) ดังแสดงในรูปที่ 6
การปฏิบัติงานในระดับปฏิบัติการ (Operational)
ได้แก่การปฏิบัติงานในระดับที่ต่ำที่สุด ผู้ควบคุมการทำงานในระดับนี้ ต้องการรายละเอียดสารสนเทศที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน ตามขบวนการผลิตของบริษัทในแต่ละวัน การควบคุมการปฏิบัติการในระดับนี้จะต้องพิจารณาหาวิธีที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยขบวนการตัดสินใจในระดับนี้ต้องการสารสนเทศเกี่ยวกับ งานที่จะต้องปฏิบัติ, ทรัพยากรที่มีอยู่ ความร่วมมือที่ต้องการจากส่วนปฏิบัติงานอื่นๆ ภายในองค์กร, มาตรฐานและงบประมาณที่สามารถใช้ได้, และผลสะท้อนกลับที่ใช้ในการประเมินผลลัพธ์ หน้าที่ของผู้จัดการในระดับปฏิบัติการ ได้แก่ ทำการตัดสินใจจากข้อมูลที่ถูกเก็บไว้, กำหนดหน้าที่ในการทำงาน, และตรวจสอบการขนส่งให้เป็นไปตามนโยบายหรือกฎที่ผู้จัดการระดับยุทธวิธีกำหนดไว้ โดยสารสนเทศที่ใช้ในการจัดการระดับนี้จะต้องมีรายละเอียดมาก, มีความแม่นยำสูงและเกิดขึ้นมาจากการทำงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำและประกอบด้วยรายการข้อมูลรายวันที่แสดงถึงการผลิต, การขายและการเงินในแต่ละวัน
การปฏิบัติงานในระดับยุทธวิธี (Tactical)
การควบคุมการจัดการในระดับยุทธวิธีจะเกี่ยวกับการจัดหาและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการระดับสูง ผู้จัดการในระดับนี้ทำหน้าที่ในการวางแผนงานสำหรับหน่วยปฏิบัติงานระดับล่าง เช่น ศูนย์กลางการขายและการผลิต เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร ผู้จัดการระดับกลางนี้ต้องการรายงานสรุปจากการปฏิบัติงานของบริษัท เพื่อใช้ในการ ตัดสินใจเชิงยุทธวิธี เพื่อที่จะปฏิบัติตามนโยบายการตัดสินใจที่ถูกกำหนดมาจากระดับบนหรือระดับกลยุทธ์ของบริษัท สิ่งสำคัญที่ผู้จัดการในระดับปฏิบัติการและระดับยุทธวิธีต้องการใช้ในการตัดสินใจได้แก่ รายงานสรุปที่ เหมาะสมกับความต้องการ โดยสารสนเทศในระดับนี้จะเป็นสารสนเทศที่เกิดขึ้นในระยะยาวมากขึ้น เช่น สารสนเทศเกี่ยวกับสถานภาพทางการเงินของบริษัท สามารถนำมาใช้ในการทำนายสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้แม่นยำมากขึ้น
การปฏิบัติงานในระดับกลยุทธ์ (Strategic)
การจัดการเชิงกลยุทธ์เกี่ยวข้องกับการกำหนดวัตถุประสงค์ขององค์กร โดยหน่วยงานต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามกลยุทธ์ที่กำหนด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร ผู้จัดการระดับกลยุทธ์จะทำการกำหนดนโยบายและตัดสินใจด้านการเงิน, ด้านบุคลากร, ด้านสารสนเทศและด้านแหล่งเงินทุนที่ต้องการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร การตัดสินใจที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางขององค์กร รวมทั้งการผลิตสินค้าใหม่, ลงทุนในตลาดใหม่และการใช้เทคโนโลยีในการผลิตใหม่ๆ จากรูปที่ 5 (ในหน้าที่ผ่านมา) แสดงสัดส่วนระหว่างจำนวนบุคคลภายในองค์กร ที่ทำการตัดสินใจในระดับการจัดการระดับต่างๆ และแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการตัดสินใจในทั้ง 3 ระดับ จากรูปสรุปได้ว่าในองค์กรจะมีผู้ที่ทำงานในระดับปฏิบัติการ(ทำงานในระดับล่าง) จำนวนมากและที่ระดับสูงขึ้น (ระดับยุทธวิธี) มีจำนวนผู้ทำงานน้อยลงและที่ระดับกลยุทธ์จะมีจำนวนน้อยที่สุด การตัดสินใจจะเกิดขึ้นจากระดับบนลงมาระดับล่าง การตัดสินใจของระดับล่างจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของระดับที่สูงกว่า ในขณะที่สานสนเทศที่ใช้ในการตัดสินใจจะเกิดขึ้นจากระดับล่างขึ้นไปสู่ระดับบน โดยสาสนเทศระดับบนเกิดจากการสรุปข้อมูลที่ได้จากระดับที่อยู่ต่ำกว่า
ระบบประมวลผลรายการ (Transaction Processing Systems)
ระบบประมวลผลรายการ หมายถึง ระบบสารสนเทศที่ใช้ในการเปลี่ยนข้อมูลดิบจากการปฏิบัติงานให้อยู่ในรูปแบบที่เครื่องจักรสามารถอ่านได้, เก็บรายละเอียดรายการ, ประมวลผลรายการและสั่งพิมพ์รายละเอียดรายการ ออกมาได้ รายการ (Transaction) คือ การกระทำพื้นฐานที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการทางธุรกิจ เช่น การขายสินค้า การจองตั๋วเครื่องบิน การซื้อสินค้าผ่านเครดิตการ์ดและการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง จัดเป็นรายการทั้งสิ้น ระบบประมวลผลรายการนิยมใช้ในการประมวลผลบัญชี, การขาย, หรือประมวลผลข้อมูลสินค้าคงคลัง เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้เป็นที่ต้องการของระบบสารสนเทศอื่นๆในองค์กร

ในการดำเนินการของระบบประมวลผลรายการ ข้อมูลถูกนำเข้าไปยังคอมพิวเตอร์ของระบบสารสนเทศ โดยใช้แป้นพิมพ์หรืออุปกรณ์อื่นๆ ข้อมูลจะถูกเก็บอยู่ในคอมพิวเตอร์จนกระทั่งพร้อมที่จะถูกประมวลผล หลังจากที่ข้อมูลถูกป้อนเข้าไปแล้ว จะเกิดการประมวลผลเพื่อเปลี่ยนข้อมูลเป็นสารสนเทศที่มีประโยชน์ในการจัดการ โดยระบบประมวลผลรายการจะทำการบันทึกรายการลงในฐานข้อมูลและผลิตเอกสารที่เกี่ยวข้องกับรายการนั้นออกมา อาจอยู่ในรูปแบบของรายงาน, ตาราง, กราฟ,ภาพเคลื่อนไหว และเสียงฯลฯ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้สารสนเทศนั้นๆ
ระบบประมวลผลรายการสามารถแบ่งตามวิธีการประมวลผลข้อมูล ได้แก่
1. ระบบการประมวลผลแบบกลุ่ม (Batch Processing System) ข้อมูลจากหลายๆรายการ จากผู้ใช้หลายๆ คน หรือจากช่วงเวลาหลายๆ ช่วง ถูกรวมเข้าด้วยกัน, นำเข้า และประมวลผลเหมือนเป็นกลุ่มเดียว ตัวอย่างเช่น ยอดขายรายวันซึ่งถูกประมวลผลเพียงวันละหนึ่งครั้ง จะใช้ระบบการประมวลผลแบบกลุ่มนี้เมื่อข้อมูลไม่จำเป็นต้องปรับปรุงทันที และเมื่อมีข้อมูลจำนวนมากที่คล้ายกัน ต้องถูกประมวลผลในครั้งเดียวกัน2. ระบบการประมวลผลแบบออนไลน์ (Online Processing System) รายการถูกประมวลผลเมื่อเกิดรายการนั้นขึ้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
2.1 การประมวลผลเชิงรายการ (Transactional Processing) ข้อมูลถูกประมวลผลเมื่อป้อนข้อมูลเข้าโดยไม่ต้องเก็บไว้ประมวลผลในภายหลัง เช่น ระบบเช็ครายการสินค้าออกของร้านขายของชำ โดยระบบจะทำการออกใบเสร็จรับเงินที่แสดงรายการสินค้าทันทีหลังจากรายการสินค้าต่างๆ ที่ซื้อ ถูกประมวลผล2.2 การประมวลผลแบบทันที (Real-time Processing) ใช้ในระบบควบคุม หรือระบบที่ต้องการให้เกิดผลสะท้อนกลับ เช่นขบวนการควบคุมอุณหภูมิของห้างสรรพสิน การทำงานของการประมวลผลแบบทันที สามารถไปมีผลกระทบกับตัวรายการนั้นๆ เอง ถ้าผู้ใช้หลายรายแข่งขันกันเพื่อใช้ทรัพยากรเดียวกัน เช่นที่นั่งบนเครื่องบิน หรือในชั้นเรียนพิเศษ

ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
ในการใช้การประมวลผลรายการทำให้การประมวลผลการดำเนินการด้านธุรกิจทำได้รวดเร็วขึ้นและลด ค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานลงได้ แต่จะเห็นได้ชัดว่าข้อมูลที่เก็บได้จากการประมวลผลรายการ สามารถช่วยให้ผู้บริหารนำมาใช้ในการตัดสินใจในการดำเนินงานได้ดีขึ้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานด้านการจัดการของผู้บริหารขึ้นเรียกว่าระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการหมายถึงกลุ่มของบุคคล, ขบวนการ,ซอฟต์แวร์, ฐานข้อมูล และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ถูกจัดการเพื่อใช้ในการจัดการสารสนเทศที่เกิดขึ้นเป็นประจำให้แก่ผู้บริหารหรือผู้ทำการตัดสินใจ จุดประสงค์หลักของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ อยู่ที่การดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพในด้านการตลาด, การผลิต, การเงิน และส่วนงานอื่นๆ โดยใช้และจัดเก็บข้อมูลลงในฐานข้อมูล


ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการเป็นระบบสารสนเทศที่ใช้ในการผลิตรายงานด้านการจัดการ ซึ่งจะใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจในระดับปฏิบัติงาน, ระดับยุทธวิธี และระดับกลยุทธ์ โดยรายงานที่เกิดขึ้นมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับระดับของการจัดการในองค์กรแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักคือรายงานตามตารางเวลา (Scheduled Report), รายงานกรณียกเว้น (Exception Report) และรายงานตามคำขอ (Demand Report)
1. รายงานตามตารางเวลา แสดงข้อมูลการดำเนินงานขององค์กรที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลา อาจจะเป็นช่วงรายวัน, รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี มีลักษณะคล้ายกับข้อมูลต้นฉบับที่ผ่านการประมวลผลมาจากหน่วยงานต่างๆ แต่เพิ่มการจัดกลุ่มข้อมูลและการสรุปข้อมูลลงไป เพื่อช่วยให้ผู้จัดการในระดับล่างสามารถตัดสินใจในการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของผู้จัดการระดับสูงกว่าได้ ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการด้านการผลิตต้องการรายงานรายวันของสินค้าที่มีตำหนิจากฝ่ายการผลิตและรายงานรายสัปดาห์ของจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นั้น2. รายงานกรณียกเว้น เป็นรายงานที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งมักจะไม่ปกติ จึงจำเป็นจะต้องมี รายงานออกมา โดยในรายงานจะมีข้อมูลที่จำเป็นต่อผู้จัดการในการตรวจสอบหาสาเหตุของข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเท่านั้น เช่น ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการทำการผลิตรายงานกรณียกเว้นเมื่อมีการทำงานล่วงเวลามากกว่า 10% ของเวลาการทำงานรวมทั้งหมด เมื่อผู้จัดการฝ่ายผลิตได้รับรายงาน จะทำการหาสาเหตุที่มีการทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากมีงานการผลิตมากหรือเกิดจากการวางแผนงานไม่ดี ถ้าเกิดขึ้นจากการวางแผนไม่ดีแล้วจะได้ทำการปรับปรุงแก้ไขแผนงานต่อไป3. รายงานตามคำขอ เกิดขึ้นตามคำขอของผู้จัดการในหัวข้อที่ต้องการ ซึ่งรายงานอาจจะถูกกำหนดมาก่อนแล้ว แต่ไม่ทำการผลิตออกมาหรืออาจเป็นรายงานที่มีผลมาจากเหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนใน รายงานอื่น หรือจากข้อมูลภายนอก เช่น ถ้าผู้จัดการฝ่ายผลิตเห็นการทำงานล่วงเวลามากเกินกำหนดจากรายงานกรณียกเว้น อาจจะทำการร้องขอรายงานที่แสดงถึงสาเหตุที่เป็นไปได้ในการทำให้เกิดการทำงานล่วงเวลาเกินกำหนด อาจจะได้แก่รายงานที่แสดงงานในด้านการผลิตทั้งหมด, จำนวนชั่วโมงที่ต้องการในการทำงานแต่ละงาน, และจำนวนการทำงานล่วงเวลาของแต่ละงาน จะเห็นว่ารายงานนี้จะต้องใช้ข้อมูลที่รวบรวมอยู่ในฐานข้อมูล เพื่อนำเสนอข้อมูลที่จำเป็นต่อผู้จัดการต่อไป
ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ
ในความเป็นจริงแล้วรายงานชนิดต่างๆ ยังไม่สามารถตอบคำถามที่เกิดขึ้นในขบวนการตัดสินใจได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากรายงานเหล่านั้นยังไม่สามาถนำมาใช้ได้ทันต่อเหตุการณ์และยังไม่สามารถนำมาทดสอบเพื่อดูผลของการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้จัดการสามารถหาคำตอบของคำถามต่างๆ เพื่อทำการตัดสินใจด้วยการใช้ตัวแบบทางคณิตศาสตร์หรือแผนภาพได้ดีขึ้น ความหมายของระบบสนับสนุนการตัดสินใจคือ ระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยผู้ตัดสินใจที่ต้องเผชิญกับปัญหาที่มีโครงสร้างระดับต่างๆ โดยสามารถทดสอบผลการตัดสินใจในการแก้ปัญหาด้วยตัวแบบข้อมูลและทำการวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ระบบสนับสนุนการตัดสินใจช่วยในการตัดสินใจปัญหาได้หลากหลายรูปแบบ สามารถช่วยในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เช่น ผู้ผลิตต้องการหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่หรือโรงงานน้ำมันต้องการเลือกสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการขุดเจาะหาน้ำมัน ซึ่งจะเห็นว่าระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการทั่วไปไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แต่ระบบสนับสนุนการตัดสินใจสามารถช่วยแนะนำทางเลือกในการปฏิบัติและช่วยในการตัดสินใจเพื่อหาคำตอบของปัญหาเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ระบบสนับสนุนการตัดสินใจยังเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจการบริหารรูปแบบต่างๆ ดังนั้นจึง จำเป็นต้องสามารถรองรับรูปแบบการตัดสินใจของผู้ใช้ที่หลากหลายด้วย


ส่วนประกอบที่จำเป็นของระบบสนับสนุนการตัดสินใจได้แก่ กลุ่มของตัวแบบที่ใช้สนับสนุน ผู้ตัดสินใจหรือผู้ใช้ (Model base), กลุ่มของค่าความจริงและสารสนเทศที่ช่วยในการตัดสินใจ (Database), และระบบและขบวนการที่ช่วยให้ผู้ตัดสินใจและผู้ใช้อื่นๆ สามารถตอบโต้กับระบบสนับสนุนการตัดสินใจได้ (User Interface) จากรูปจะเห็นว่าผู้ใช้ไม่ได้ทำการใช้ตัวแบบโดยตรง แต่จะใช้งานผ่านซอฟต์แวร์จัดการตัวแบบ (Model Management Software : MSS) และใช้ฐานข้อมูลผ่านระบบจัดการฐานข้อมูล (Database Mangement System :DBMS)
ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร
ระบบสนับสนุนการตัดสินใจมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาและตอบคำถามลักษณะ "อะไรจะเกิดขึ้นถ้า…" หรือลักษณะต้องทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการและคำถามในลักษณะมีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ที่ ตัดสินใจและต้องการใช้ระบบนี้ส่วนมากมักจะเป็นผู้บริหารระดับกลางซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องับปัญหาและการทำงานหลัก แต่สารสนเทศที่ได้จากระบบสนับสนุนการตัดสินใจมักจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริหารระดับสูงได้ เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงต้องมองในระดับกว้างขององค์กรและผู้บริหารมีเวลาน้อย ระบบสารสนเทศเพื่อ ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องใช้งานง่ายและสารสนเทศที่ได้จากระบบจะต้องอยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย แหล่งข้อมูลที่ใช้อาจจะมาจากแหล่งข้อมูลภายนอกและแหล่งข้อมูลภายในเช่นระบบประมวลผลรายการหรือระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ทำให้ผู้บริหารระดับสูงสามารถหาสาเหตุที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ต่างๆได้ ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหารมีประสิทธิภาพและความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลสูงด้วยการใช้เครื่อง เมนเฟรม ใช้งานง่ายและมีความสามารถในการแสดงผลด้วยรูปภาพได้ด้วยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โดยสารสนเทศถูกถ่ายโอนจากเครื่องเมนเฟรมหรือฐานข้อมูลข้อมูลภายนอกเข้ามายังเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และผู้บริหารสามารถใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่งเช่น เมาส์ เพื่อเลือกจากรายการของผลลัพธ์และรูปแบบการแสดงผลได้ เนื่องจากผู้บริหารมักจะทำการค้นหาข้อมูลและตอบคำถามที่ต้องการมากกว่าการป้อนข้อมูล ในระบบสารสนเทศเพื่อ ผู้บริหารนี้จึงไม่นิยมใช้แป้นพิมพ์ ผลลัพธ์ที่ได้มักจะอยู่ในรูปแบบของแผนภาพหรือแผนภาพและตาราง ทำให้ผู้บริหารสามารถเข้าใจแนวโน้มและนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ตัดสินปัญหาได้ตรงตามความต้องการ
ระบบผู้เชี่ยวชาญ
ระบบผู้เชี่ยวชาญได้รับความสำเร็จได้ด้วยการนำคุณสมบัติทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ซึ่งเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่มีคุณลักษณะความฉลาดเหมือนกับมนุษย์ เข้ามาใช้ร่วมด้วย ระบบผู้เชี่ยวชาญช่วยในการตัดสินใจได้โดยขบวนการทางคอมพิวเตอร์ที่ทำการรวบรวมเหตุผลทางตรรกะเข้าด้วยกัน ซึ่งระบบผู้เชี่ยวชาญเรียกใช้ความรู้เฉพาะด้านหนึ่งๆ ได้จากฐานความรู้ (Knowledge Base) ขึ้นอยู่กับค่าความจริงของเหตุการณ์ใดๆ ที่ต้องการตัดสินใจ ผ่านกลไกในการสรุปข้อมูลและให้เหตุผล เพื่อให้คำแนะนำพร้อมทั้งมีคำอธิบายของคำแนะนำแก่ผู้ใช้ด้วย โครงสร้างของระบบผู้เชี่ยวชาญ

ส่วนประกอบที่จำเป็นของฐานความรู้คือ ฮิวริสติก (Heuristic) ซึ่งหมายถึงส่วนของความรู้ภายในขอบเขตของระบบผู้เชี่ยวชาญในด้านการตัดสินใจ ซึ่งไม่มีรูปแบบตายตัว เช่นการสำรวจน้ำมันหรือการประเมินราคาหุ้น โดยฐานความรู้จะถูกพัฒนาขึ้นโดยการนำความรู้และความเชี่ยวชาญมาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ต้องการ ระบบผู้เชี่ยวชาญสามารถนำไปใช้ร่วมกับระบบสารสนเทศในองค์กรทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นระบบการประมวลผลรายการ, ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการหรือในระบบสนับสนุนการตัดสินใจหรือจะใช้เป็นเครื่องมือในการให้ คำแนะนำเดี่ยวๆ เลยก็ได้ ตัวอย่างเช่น การนำระบบผู้เชี่ยวชาญมาใช้ร่วมกับระบบประมวลผลรายการสำหรับการสั่งซื้อสินค้า ระบบผู้เชี่ยวชาญอาจกำหนดราคาสั่งซื้อโดยการพิจารณาจากกลุ่มลูกค้า, ปริมาณการสั่งซื้อและรายการส่งเสริมการขายที่มีอยู่ทั้งหมดของสินค้าที่ถูกสั่งซื้อนั้น เนื่องจากบริษัทต่างๆมีรายการส่งเสริมการขายที่แตกต่างกัน มีทั้งแบบในระยะเวลาสั้นๆ, แบบที่ให้เฉพาะบางพื้นที่ฯลฯ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ง่ายนักสำหรับพนักงานรับสั่งสินค้าที่จะสามารถจัดการแจ้งให้ลูกค้าทราบได้ทันทีทางโทรศัพท์ ความยุ่งยากของงานเหล่านี้มีมากมายจึงมีการนำระบบผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย จัดการ แต่ในความเป็นจริงแล้วระบบผู้เชี่ยวชาญมิได้เข้ามาแทนที่ผู้เชี่ยวชาญระบบตัวจริง เพียงแต่ช่วยให้ผู้ตัดสินใจ ทำการตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
ระบบที่นำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่ผู้บริหารสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่าระบบ สารสนเทศเพื่อการจัดการ ซึ่งข้อมูลส่วนที่นำเข้าส่วนมาก ได้แก่ข้อมูลจากระบบประมวลผลรายการ ซึ่งถูกนำเข้าไปยังระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการขององค์กรเพื่อผลิตรายงานต่างๆ ออกมา ทำให้ผู้จัดการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น
แนวคิดของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
จุดประสงค์หลักของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการคือ ช่วยให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ได้โดยช่วยให้ ผู้บริหารสามารถเห็นการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อที่จะควบคุม, จัดการและวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือกล่าวได้ว่า ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ช่วยนำเสนอข้อมูลของผู้บริหารเพื่อใช้ในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยจัดการผลสะท้อนกลับที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานรายวันได้ ตัวอย่างเช่นระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการผลิต คือกลุ่มของระบบที่รวมกันเพื่อช่วยให้ผู้บริหารสามารถตรวจสอบขบวนการผลิต เพื่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด โดยการตรวจสอบนี้ทำได้โดยดูจากรายงานสรุปที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ รายงานเหล่านี้สามารถได้มาจากการกรองและการวิเคราะห์รายละเอียดข้อมูลที่อยู่ในฐานข้อมูลการประมวลผลรายการและแสดงผลข้อมูลที่ได้ในรูปแบบที่มีความหมายหรือรูปแบบที่เข้าใจได้ง่ายต่อ ผู้บริหาร เพื่อใช้ในการตัดสินใจ รูปที่ 11 แสดงบทบาทของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ที่มีต่อการไหลของ สารสนเทศภายในองค์กร สังเกตว่ารายการทางธุรกิจสามารถเข้ามาในองค์กรผ่านวิธีการทั่วไป, ผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือผ่านทางเอ็กทราเน็ตที่ติดต่อลูกค้าและแหล่งผลิตเข้ากับระบบประมวลผลรายการของบริษัทก็ได้


รายงานสรุปจากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ เป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลสำหรับ ผู้บริหาร ซึ่งจะเห็นว่าระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการสามารถใช้ได้ในทุกๆ ระดับของการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นในระดับพนักงานไปจนกระทั่งถึงระดับองค์กรก็ตาม ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการแต่ละระบบจะประกอบด้วยกลุ่มของระบบย่อย ซึ่งทำหน้าที่ในการดำเนินงานเฉพาะอย่างภายในองค์กร ดังนั้นระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงินจะมีระบบย่อยที่ทำการออกรายงานด้านการเงิน, ระบบย่อยที่ทำการวิเคราะห์ผลกำไรและขาดทุน, วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและระบบย่อยที่ทำการใช้และบริหารเงินทุน ระย่อยต่างๆ สามารถใช้ทรัพยากรด้านฮาร์ดแวร์, ข้อมูล และบุคคลร่วมกันได้ ถึงแม้การใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการจะเพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจให้กับผู้บริหารได้ แต่บทบาทสำคัญที่ทำให้ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการสามารถเพิ่มประสิทธิผลให้กับองค์กรได้ก็คือ ช่วยในการจัดการข้อมูลที่ ถูกต้องให้กับบุคคลที่ถูกต้อง ในรูปแบบและเวลาที่เหมาะสม
ส่วนที่นำเข้าไปในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
ข้อมูลที่เข้าไปยังระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการมาจากแหล่งข้อมูลภายในและภายนอก แหล่งข้อมูลภายในที่สำคัญมาจากระบบการประมวลผลรายการ ซึ่งการทำงานหลักของระบบประมวลผลรายการได้แก่การจัดเก็บข้อมูล ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินรายการทางธุรกิจ ซึ่งเมื่อเกิดรายการทางธุรกิจใดๆ ขึ้นระบบประมวลผลรายการจะต้อง ปรับปรุงข้อมูลที่อยู่ในฐานข้อมูลด้วยเสมอ ตัวอย่างเช่น โปรแกรมการออกบิลช่วยเก็บฐานข้อมูลของบัญชีรายรับ ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้บริหารทราบว่าลูกค้ารายใดบ้างที่เป็นหนี้บริษัท ฐานข้อมูลที่ปรับปรุงแล้วเหล่านี้เป็นแหล่งกำเนิดข้อมูลภายในพื้นฐาน เพื่อใช้ในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ชุดโปรแกรมทางด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือข้อมูลภายในจากส่วนงานเฉพาะด้านอื่นๆ ของบริษัทก็สามารถนำเข้าข้อมูลที่สำคัญมาสู่ระบบได้เช่นกัน แหล่งข้อมูล ภายนอกได้แก่ ลูกค้า, แหล่งผลิต, คู่แข่งและผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลที่ยังไม่ผ่านการประมวลผลรายการ และแหล่งข้อมูลอื่นๆ หลายๆ บริษัทพยายามที่จะนำเอ็กทราเน็ตเข้ามาใช้เชื่อมโยงแหล่งข้อมูลภายนอกต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการใช้ข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งกำเนิดเหล่านี้และประมวลผลให้กลายเป็น สารสนเทศที่ผู้บริหารสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งมักจะอยู่ในรูปแบบของรายงานนั่นเอง
ผลลัพธ์ของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
ผลลัพธ์ที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการคือกลุ่มของรายงานซึ่งจะถูกส่งไปให้กับผู้บริหารรายงาน เหล่านี้ได้แก่
1. รายงานตามตารางเวลา (Schedules Reports) เป็นรายงานที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลา หรือตามตารางเวลา เช่นรายวัน รายสัปดาห์หรือรายเดือน ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการฝ่ายผลิตต้องการใช้รายงานรายสัปดาห์ เพื่อแสดงรายการค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงรวม เพื่อตรวจสอบและควบคุมค่าใช้จ่ายของงานและแรงงาน รายงานตามตารางเวลาสามารถช่วยให้ ผู้บริหารควบคุมเครดิตของลูกค้า, ประสิทธิภาพของตัวแทนจำหน่าย, ระดับสินค้าคงคลังได้2. รายงานแสดงส่วนประกอบสำคัญ (Key Indicator Reports) สรุปการปฏิบัติงานที่วิกฤติของวันก่อนหน้าและยังคงมีอยู่ในตอนต้นของแต่ละวันทำงาน รายงานเหล่านี้สามารถสรุประดับของสินค้าคงคลัง, งานในการผลิต, ปริมาณการขายฯลฯ ใช้สำหรับผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูงที่ต้องการความรวดเร็ว ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง3. รายงานตามคำขอ (Demand Reports) ให้ข้อมูลตามที่ผู้จัดการร้องขอ ตัวอย่าง เช่น เมื่อผู้บริหารระดับสูงต้องการทราบการผลิตของสินค้ารายการหนึ่ง ก็จะทำการสร้างรายงานตามความต้องการนี้ออกมา4. รายงานกรณียกเว้น (Exception Reports) เป็นรายงานที่ถูกผลิตออกมาอย่างอัตโนมัติ เมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้นหรือเมื่อต้องการใช้ในการดำเนินการบริหาร 5. รายงานแบบเจาะลึกรายละเอียด (Drill Down Report) ให้รายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์หนึ่งๆ


คุณลักษณะของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
รายงานแบบต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นช่วยผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูงในการตัดสินใจได้ดีขึ้นและทันเวลามากขึ้น โดยทั่วไประบบสารสนเทศเพื่อการจัดการมีหน้าที่และคุณลักษณะ ดังนี้
1. ผลิตรายงานในรูปแบบที่กำหนดและรูปแบบมาตรฐาน เช่น รายงานตามตารางเวลาสำหรับควบคุมสินค้าคงคลัง อาจจะประกอบด้วยสารสนเทศชนิดเดียวกัน อยู่ในตำแหน่งเดียวกันในรายงาน เนื่องจาก ผู้จัดการคนละคน อาจใช้รายงานเดียวกันเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันได้ 2. ผลิตรายงานในรูปแบบของเอกสารหรือไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ รายงานบางรายงานสามารถถูกพิมพ์ลงบนกระดาษ เรียกว่าเป็นรายงานฉบับตัวจริง (Hard-copy) ส่วนรายงานที่อยู่ในรูปเสมือนจริง (Soft-copy) มักจะแสดงผลผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยผู้จัดการสามารถเรียกรายงานที่ต้องการขึ้นมาแสดงบนหน้าจอโดยตรงได้ แต่รายงานนั้นยังคงปรากฏในรูปแบบมาตรฐานเหมือนรายงานที่พิมพ์ออกมาจริงๆ 3. ใช้ข้อมูลภายในที่เก็บอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ รายงานในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ ใช้แหล่งข้อมูลภายในที่อยู่ในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์และบางระบบใช้แหล่งข้อมูลภายนอกเกี่ยวกับคู่แข่ง, โลกธุรกิจฯลฯ แหล่งข้อมูล ภายนอกที่นิยมใช้ได้แก่ แหล่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ตนั่นเอง4. ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างรายงานในรูปแบบที่ต้องการได้ ในขณะที่นักวิเคราะห์และนักเขียนโปรแกรมทำการพัฒนาและการใช้รายงานที่ซับซ้อนซึ่งต้องการใช้ข้อมูลจากหลายๆ แหล่งได้ ผู้ใช้ทั่วไปก็สามารถพัฒนาโปรแกรมอย่างง่ายในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการและผลิตออกมาเป็นรายงานได้ด้วยตนเองเช่นกัน5. ต้องการการร้องขออย่างเป็นทางการจากผู้ใช้ เมื่อฝ่ายสารสนเทศส่วนบุคคลต้องการพัฒนาและนำรายงานไปใช้จริง จำเป็นจะต้องมีการร้องขออย่างเป็นทางการไปยังแผนกระบบสารสนเทศก่อน ส่วนรายงานที่ผู้ใช้ทั่วไปพัฒนาขึ้นเองไม่จำเป็นต้องมีการร้องขออย่างเป็นทางการ
ส่วนประกอบของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
ส่วนประกอบของระบบสารสนเทศมี 5 ส่วนหลักดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นคือ ฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์, ข้อมูล, ขบวนการ และบุคลากร โดยแต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กัน ในการนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้เพื่อการจัดการมักจะแบ่งส่วนตามการทำงานหลัก ซึ่งอาจจะเห็นได้จากแผนผังองค์กร ทำให้ทราบได้ว่าองค์กรนั้นๆ แบ่งส่วนการทำงานอย่างไร ส่วนการทำงานหลักที่มักจะปรากฏให้เห็นในองค์กรทั่วไปได้แก่ ฝ่ายบัญชี, การเงิน, การตลาด, บุคคล ฝ่ายพัฒนาและวิจัย, ฝ่ายกฎหมาย , ฝ่ายระบบสารสนเทศ เป็นต้น ในแต่ละฝ่ายก็จะมีระดับการจัดการต่างๆ (กลยุทธ์, ยุทธวิธี, และการดำเนินงาน) จึงเรียกการแบ่งการจัดการตามส่วนการทำงานว่าการแบ่งตามแนวตั้ง ส่วนการแบ่งตามระดับการจัดการเรียกว่าการแบ่งตามแนวนอน แต่ละส่วนการทำงานจะมีระบบย่อยที่ทำงานเฉพาะด้านของตนเอง แต่อาจมีการใช้ข้อมูลร่วมกันได้ รูปที่ 13 แสดงระบบ สารสนเทศที่รวมส่วนการทำงานต่างๆ ไว้ด้วยกัน โดยแต่ละส่วนสนับสนุนการทำงานที่ต่างกันออกไป จากรูปแสดงให้เห็นว่าแต่ละระบบสารสนเทศภายในองค์กรต่างก็ทำงานเฉพาะด้านของตนเอง รายงานแต่ละประเภทที่ได้จากระบบสารสนเทศฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายบัญชี การเงินหรือการตลาด ก็จะเหมาะกับระดับการจัดการที่แตกต่างกันออกไป


จะเห็นว่าระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการของฝ่ายต่างๆ จะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันกลายเป็นระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการขององค์กร ดังแสดงในรูปที่ 13 อย่างไรก็ตามข้อมูลจากฝ่ายการทำงานต่างๆ จะถูกรวบรวมเข้าไว้ในฐานข้อมูลกลางดังรูปที่ 14 ซึ่งฐานข้อมูลนี้นอกจากจะช่วยทำให้เกิดการรวมกันของระบบสารสนเทศต่างๆ แล้ว ยังช่วยให้เกิดการรวมกันของระบบประมวลผลรายการขององค์กรด้วย ซึ่งข้อดีของการรวมระบบงานต่างๆ เข้าด้วยกันก็คือ สามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ง่าย ซึ่งจะทำให้ลดค่าใช้จ่าย, ได้รายงานที่มีความแม่นยำมากขึ้น, มีความปลอดภัยของ ข้อมูลมากขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรอีกด้วย


ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการและขบวนการทางธุรกิจ
ระบบสารสนเทศสามารถนำเข้ามาใช้ในการดำเนินงานทางธุรกิจด้านต่างๆ ดังนั้นในส่วนต่อไปจะเป็นการอธิบายถึงการนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ในเพื่อการจัดการด้านการเงิน, การผลิต, การตลาด, ด้านทรัพยากรมนุษย์ และด้านบัญชี
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน
ทำหน้าที่ในการจัดการสารสนเทศด้านการเงินให้แก่ผู้บริหารและกลุ่มบุคคลซึ่งต้องการทำการตัดสินใจได้ดีขึ้นและช่วยในการหาโอกาสและปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดย ระบบสารสนเทศด้านการเงินนิยมใช้รวมเข้ากับซอฟต์แวร์ ในการวางแผนทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning : ERP) ซึ่งเป็นกลุ่มของโปรแกรมที่จัดการ วิเคราะห์และติดตามการดำเนินธุรกิจของแหล่งผลิตหรือสาขาต่างๆ ขององค์กร เพื่อให้แน่ใจว่าสารสนเทศด้านการเงินในการปฏิบัติงาน สามารถนำไปใช้สนับสนุนความสามารถในการตัดสินใจให้แก่บุคคลที่ต้องการได้ทันเวลา ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงินมีความสามารถการทำงานดังต่อไปนี้
1. รวบรวมสารสนเทศด้านการเงินและการดำเนินงานจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้าไว้ในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการเพียงระบบเดียว2. สนับสนุนผู้ใช้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับด้านการเงินและผู้ใช้อื่นๆ ของบริษัท ให้สามารถเรียกใช้ข้อมูลและ สารสนเทศทางด้านการเงินผ่านทางเครือข่ายในองค์กรได้ง่าย 3. เตรียมข้อมูลด้านการเงินที่มีอยู่ให้พร้อมต่อการใช้งาน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว4. สามารถวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเงินได้หลายมิติ เช่น วิเคราะห์ตามช่วงเวลา, ภูมิประเทศ, ผลิตภัณฑ์, โรงงานผลิต หรือลูกค้าได้5. วิเคราะห์การดำเนินงานด้านการเงินที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้6. ติดตามและควบคุมการใช้เงินทุนได้ตลอดเวลารูปที่ 15 แสดงส่วนนำเข้า, ระบบย่อยภายใน และผลลัพธ์ของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน
ส่วนที่นำเข้าไปยังระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน
ส่วนที่นำเข้าไปในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน ได้แก่
1. แผนเชิงกลยุทธ์และนโยบายของบริษัท ในแผนกลยุทธ์จะประกอบด้วย วัตถุประสงค์ด้านการเงินของบริษัท เช่น เป้าหมายของผลกำไรที่ต้องการ,อัตราส่วนของหนี้สินและเงินกู้, ค่าคาดหวังของผลตอบแทนที่ต้องการ เป็นต้น2. ระบบประมวลผลรายการ สารสนเทศด้านการเงินที่สำคัญจะมาจากโปรแกรมการประมวลผลรายการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมเงินเดือน, โปรแกรมควบคุมสินค้าคงคลัง, โปรแกรมสั่งซื้อสินค้า, โปรแกรมบัญชีรายรับ-รายจ่าย, และโปรแกรมใบสั่งซื้อ ทั่วไป โดยข้อมูลที่ได้จากโปรแกรมเหล่านี้ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนรวม, เงิน ลงทุนในคลังสินค้า, ยอดขายรวม, ปริมาณเงินที่จ่ายให้กับแหล่งผลิตสินค้า, ปริมาณหนี้รวมของลูกค้าที่มีต่อบริษัทและรายละเอียดข้อมูลบัญชีต่างๆ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปสร้างเป็นรายงายด้านการเงิน เพื่อใช้ในการตัดสินใจต่อไป3. แหล่งข้อมูลภายนอก ได้แก่ สารสนเทศเกี่ยวกับคู่แข่งขัน อาจได้มาจากรายงานประจำปีของบริษัทคู่แข่ง, หนังสือพิมพ์, สื่อต่างๆ เช่นเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงสารสนเทศเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศหรือของโลก เช่น สภาวะเงินเฟ้อ, อัตราภาษี เหล่านี้เป็นต้น
ระบบย่อยและผลที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน
ระบบย่อยในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน ขึ้นอยู่กับองค์กรและความต้องการขององค์กรนั้น โดยอาจประกอบด้วยระบบภายในและระบบภายนอกที่ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลทางธุรกิจของบริษัท เช่น ระบบการจัดหา, การใช้, และการควบคุมเงินสด, ระบบเงินทุนและแหล่งการเงินอื่นๆ และอาจจะประกอบด้วย ระบบย่อยในการหากำไร/ขาดทุน, ระบบบัญชีค่าใช้จ่ายและระบบการตรวจสอบ โดยระบบต่างๆ เหล่านี้จะทำงานประสานกับระบบประมวลผลรายการ เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ผู้จัดการด้านการเงินสามารถนำไปใช้ตัดสินใจได้ดีขึ้น ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการเงิน ได้แก่ รายงานด้านการเงินต่างๆ เช่น รายงานกำไร/ขาดทุน, รายงานระบบค่าใช้จ่าย, รายงานการตรวจสอบภายในและภายนอกและรายงานการใช้และการจัดการเงินทุน เป็นต้น
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการผลิต
ขบวนการในการผลิตประกอบด้วยงานที่ขึ้นต่อกันมากมาย โดยการนำระบบการวางแผนทรัพยากรของ องค์กรมาใช้ร่วมในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการผลิตจะช่วยให้การทำงานมีความยืดหยุ่นและมีการจัดหาทรัพยากรที่ต้องการใช้ได้ทันต่อความต้องการ โดยจุดประสงค์ของขบวนการผลิตก็คือการผลิตได้ตรงตามความพอใจหรือความต้องการของลูกค้านั่นเอง ในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการผลิต ภาระของผู้บริหารในการดูแลควบคุมงานจะถูกลดลงไป, งานด้านเอกสารต่างๆ จะถูกปรับให้อยู่ในรูปของขบวนการออนไลน์และการติดต่อสื่อสารข้อมูลจะใช้งานผ่านระบบการ แลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (EDI) และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแทน อีกทั้งในการวางแผนการใช้ทรัพยากรของ องค์กรเพื่อการผลิตจะใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายอินทราเน็ตในองค์กร เพื่อติดต่อกับหน่วยงานธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เพื่อปฏิบัติงานและงานควบคุมงานต่างๆ ทั้งแบบศูนย์กลางและแบบกระจายได้

ส่วนที่นำเข้าไปยังระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการผลิต
ส่วนที่นำเข้าจะได้จากกการปฏิบัติงานซึ่งเกี่ยวกับการไหลเวียนและการแปลงวัตถุดิบภายในองค์กร แหล่ง สารสนเทศที่สำคัญอาจมาจากภายนอกองค์กรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะมาจากภายใน เช่น
1. แผนเชิงกลยุทธ์และนโยบายของบริษัท ซึ่งจะเป็นส่วนที่กำหนดทิศทางของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการผลิต เช่นเอกสารเกี่ยวกับการวางแผนระยะยาวที่กล่าวถึงเรื่องคุณภาพ, การผลิต, และเป้าหมายและข้อจำกัดในการให้บริการ รวมถึงนโยบายในการเปิดโรงงานใหม่หรือการปิดโรงงานเก่าลงและเรื่องของความสามารถในการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้, ข้อจำกัดของจำนวนพนักงานที่มี, การเปลี่ยนนโยบายการเก็บสินค้าคงคลัง และโปรแกรมการควบคุมคุณภาพใหม่ที่ต้องการใช้ เหล่านี้จัดเป็นสารสนเทศที่นำเข้าสู่ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการผลิต2. ระบบประมวลผลรายการ ได้แก่ข้อมูลที่ได้จากระบบประมวลผลรายการด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อในการผลิต ได้แก่ การประมวลผลการสั่งซื้อ, ข้อมูลสินค้าคงคลัง, ข้อมูลการรับและการตรวจสอบวัตถุดิบที่เข้ามาในขบวนการผลิต, ข้อมูลบุคลากร, และข้อมูลขบวนการผลิต3. แหล่งข้อมูลภายนอก ได้แก่ ข้อมูลขบวนการในการผลิตใหม่ๆ ซึ่งอาจมาจากบริษัท, วารสาร และสิ่งพิมพ์อื่นๆ หรือได้จาก เครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือข้อมูลเกี่ยวกับสภาพวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้สามารถคาดเดาในเรื่องของแรงงาน และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับวัตถุดิบได้ นอกเหนือจากนี้ยังมีแหล่งข้อมูลภายนอกอื่นๆ อีก เช่น องค์กรผู้เชี่ยวชาญต่างๆ, สมาคมทางธุรกิจ ซึ่งสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งขัน ทั้งในด้านขบวนการผลิตและกลุ่มลูกค้าใหม่ๆที่น่าสนใจได้

ระบบย่อยและผลที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการผลิต
ระบบย่อยและผลลัพธ์ที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการผลิต ได้แก่ การตรวจสอบและควบคุมการไหลเวียนของวัตถุดิบ, สินค้า และบริการต่างๆภายในองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ตั้งแต่เริ่มขบวนการนำวัตถุดิบมาผ่านขั้นตอนการผลิตจนกระทั่งเสร็จเป็นสินค้าและบริการที่จะส่งไปยังลูกค้า โดยที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ระบบย่อยและผลลัพธ์ที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการผลิต ได้แก่
1. การออกแบบและการปฏิบัติเชิงวิศวกรรม (Design and Engineering) ได้แก่การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยสามารถใช้ระบบการออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (Computer-Aided Design : CAD) ซึ่งเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ โดยผู้ใช้สามารถออกแบบและแก้ไข ตัวแบบได้เองบนจอภาพ 2. การจัดตารางการผลิต (Production Planning) เพื่อจัดการรายละเอียดแผนงานการผลิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่ทำงานในด้านนี้เข้ามาช่วย ซึ่งในซอฟต์แวร์นี้อาจมีคุณสมบัติในการทำนายและพิจารณาหาความต้องการของสินค้าและบริการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ทำให้สามารถวางแผนเพื่อกำหนดการผลิตให้ได้ตรงตามความต้องการ 3. การควบคุมสินค้าคงคลัง (Inventory Control) ได้แก่การใช้ซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการสั่งซื้อ, การทำนาย, การผลิตเอกสารและรายงานร้านค้า, การพิจารณาหาค่าใช้จ่ายในการผลิต, การวิเคราะห์งบประมาณค่าใช้จ่ายที่วางไว้เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายจริง, และการพัฒนาตารางการผลิต, บอกความต้องการทรัพยากรในการผลิตและวางแผนการผลิตได้อย่างอัตโนมัติ โดยปกติแล้วซอฟต์แวร์ต่างๆเหล่านี้จะมีสูตรในการคำนวณเพื่อหาจำนวนวัตถุดิบและช่วงเวลาที่จะต้องสั่งซื้อได้ วิธีการหาว่าต้องสั่งสินค้ามาไว้ในคลังปริมาณเท่าใดเรียกว่าวิธีการกาปริมาณหารสั่งซื้อมางเศรษฐกิจ (Economic Order Quantity : EOQ) โดยปริมาณที่หาได้นี้จะต้องทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดด้วย ส่วนการหาว่าต้องสั่งสินค้ามาไว้ในคลังเมื่อใดจะใช้วิธีการหาจุดสั่งซื้อเพิ่ม Reorder Point : ROP) ซึ่งแสดงถึงค่าระดับปริมาณสินค้าคงคลังที่วิกฤติ 4. การวางแผนการใช้ทรัพยากรการผลิต(Manufacturing Resource Planning : MRPII) ได้แก่ระบบที่ใช้การวางแผนเครือข่ายเพื่อให้บุคคลต่างๆ สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อให้บริการและผลผลิตแก่ลูกค้าได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่เสียค่าใช้จ่ายและมีสินค้าหรือวัตถุดิบในคลังสินค้าในปริมาณต่ำ โดยมีการทำนายความต้องการของลูกค้า, การควบคุมสินค้าคงคลัง, การวางแผนการผลิต, การแสดง รายการวัตถุดิบที่ต้องใช้, การวางแผนการสรรหาแหล่งวัตถุดิบที่ต้องใช้ เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ จะถูกส่งไปให้แก่ลูกค้าได้ในเวลาที่ต้องการ 5. การควบคุมสินค้าและการผลิตที่ทันเวลา (Just-in-Time Inventory and Manufacturing) การเก็บสินค้าและวัตถุดิบในคลังสินค้าเป็นจำนวนมากทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง และอาจเกิดการเสียหายได้ ดังนั้นวัตถุประสงค์หนึ่งของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการผลิตก็คือ การควบคุมสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด โดยไม่กระทบกับความต้องการในการนำสินค้าหรือวัตถุดิบนั้นไปใช้ในการผลิต วิธีที่นิยมใช้ได้แก่วิธีการควบคุมคลังสินค้าแบบทันเวลา (Just-in-Time : JIT Inventory Approach) ซึ่งสินค้าและวัตถุดิบจะถูกส่งไปให้ในช่วงเวลาก่อนที่จะสินค้าหรือวัตถุดิบนั้นไปใช้ในการผลิต ทำให้ไม่ต้องเก็บไว้ในคลังสินค้าเป็นช่วงเวลานานๆ 6. การควบคุมขบวนการผลิต ในการควบคุมการผลิตมีเทคโนโลยีที่สนับสนุนมากมาย เช่น การผลิตโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (Computer-Aided Manufacturing : CAM) เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยการด้านการผลิต เช่น การตรวจสอบและติดตาม ได้แก่การควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ในการผลิตต่างๆ การตรวจสอบค่าและข้อกำหนดในการผลิตต่างๆ เช่น อุณหภูมิที่ใช้ ค่าความดันอากาศฯลฯ หรือใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการกำหนดรหัสสินค้า การจัดลำดับในขบวนการผลิต เป็นต้น 7. การนำคอมพิวเตอร์เข้าไปช่วยในการผลิต (Computer-Integrated Manufacturing : CIM) ได้แก่การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆในขบวนการผลิตเข้าด้วยกันเป็นระบบที่มี ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวมขั้นตอนการผลิตทั้งหมด เช่น การประมวลผลการสั่งซื้อ, การออกแบบผลิตภัณฑ์, การผลิต การควบคุมและการตรวจสอบคุณภาพ และการขนส่งเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธภาพในด้านการทำงานส่วนต่างๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยอาจนำระบบการผลิตแบบคล่องตัว (Flexible Manufacturing System : FMS) เข้ามาใช้ร่วมด้วย ทำให้สามารถเปลี่ยนการผลิตสินค้าอย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่งเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 8. การควบคุมและการตรวจสอบคุณภาพ (Quality Control and Testing) ได้แก่ขบวนการในการในการควบคุมเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่ผลิตออกมาตรงตามที่ลูกค้าต้องการ โดยใช้ซอฟต์แวร์ในการควบคุมคุณภาพ ต่างๆ ผลลัพธ์ที่ได้จากระบบการควบคุมคุณภาพ ได้แก่รายงาน ค่าใช้จ่ายที่ลดลงและยอดขายที่เพิ่มขึ้น โดยสารสนเทศที่ได้จากระบบนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทราบถึงปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์การผลิตและรายงานควบคุมคุณภาพยังใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ดีขึ้นอีกด้วย

ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการตลาด
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการตลาด จะสนับสนุนการทำงานด้านการบริหารการพัฒนาผลิตภัณฑ์, การกระจายผลิตภัณฑ์, การตัดสินใจเรื่องราคา, การโฆษณาผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิผลและการทำนายยอดขาย โดยรูปที่ 17 แสดงภาพรวมของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการตลาด


ส่วนที่นำเข้าไปยังระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการตลาด ส่วนที่นำเข้าไปในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการตลาด มักจะได้มาจากแหล่งข้อมูลภายนอกได้แก่ อินเทอร์เน็ต, บริษัทคู่แข่งขัน, ลูกค้า, วารสาร และนิตยสาร และสิ่งพิมพ์อื่นๆ แต่ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลภายในก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ ได้แก่
1. แผนเชิงกลยุทธ์ และนโยบายของบริษัท ได้แก่แผนเชิงกลยุทธ์ในเรื่องเป้าหมายและทิศทางของยอดขายที่ต้องการ การกำหนดราคาสินค้าและบริการ, ช่องทางการกระจายสินค้า, รายการสนับสนุนการขาย, คุณลักษณะของสินค้าใหม่และในแผนเชิงกลยุทธ์ยังอาจมีการกำหนดแนวทางในการวิเคราะห์สารสนเทศทางด้านการตลาด และการตัดสินใจด้านการตลาดด้วย2. ระบบประมวลผลรายการ ในระบบประมวลผลรายการจะประกอบด้วยข้อมูลด้านการขายและด้านการตลาดมากมาย เช่นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์, ลูกค้า, และการขาย เป็นต้น นอกจากข้อมูลที่ได้จากระบบประมวลผลรายการแล้ว ยังอาจได้จากระบบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ด้วย 3. แหล่งข้อมูลภายนอก ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลภายนอก ได้แก่ - ข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งขัน เช่นข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการใหม่ๆ, กลยุทธ์ในการกำหนดราคา, จุดแข็งและจุดอ่อนของประเภทผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่, การจัดหีบห่อ, การตลาด และการกระจายสินค้าไปยังลูกค้าของบริษัทคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถหาได้จากวัตถุดิบทางการตลาดเช่น แผ่นพับ, แผนการขายที่ได้จากบริษัทคู่แข่ง, จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตฯลฯ - ข้อมูลเกี่ยวกับตลาด ซึ่งมักจะได้มาจากการสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภค โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในด้านวิจัยตลาด เป็นต้น
ระบบย่อยและผลที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการตลาด
ระบบย่อยในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการตลาด ได้แก่ การวิจัยตลาด, การพัฒนาผลิตภัณฑ์, การโฆษณาและรายการสนับสนุนการขาย, และการกำหนดราคาสินค้า โดยผลลัพธ์ของระบบย่อยเหล่านี้จะช่วยให้ผู้จัดการด้านการตลาดและผู้บริหารสามารถเพิ่มยอดขาย, ลดค่าใช้จ่ายในการตลาดและพัฒนาแผนในการให้บริการและการผลิตสินค้าล่วงหน้าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าระบบสารสนเทศด้านบุคลากร ได้แก่ระบบงานที่เกี่ยวข้องกับพนักงานขององค์กร เนื่องจากการทำงานของทรัพยากรมนุษย์จะเกี่ยวข้องกับทุกส่วนงานขององค์กร ดังนั้นระบบสารสนเทศด้านบุคลากรจึงมีบทบาทที่มีผลต่อความสำเร็จขององค์กร โดยระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ควรจะมีคุณสมบัติในการวิเคราะห์และวางแผนภาระงาน, การจ้างบุคลากร, การฝึก อบรมพนักงาน การกำหนดงานให้กับพนักงานและงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร โดยระบบที่มีประสิทธิภาพควรจะสามารถจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรให้น้อยที่สุดในขณะที่ยังคงสามารถสนองตอบความต้องการบุคลากรในการดำเนินงานต่างๆ เพื่อดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรได้ รูปที่ 18 แสดงภาพรวมของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์


ส่วนที่นำเข้าไปยังระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์
1. แผนเชิงกลยุทธ์และนโยบายของบริษัท ได้แก่ข้อมูลด้านวัตถุประสงค์และนโยบายในด้านบุคลากร เช่นนโยบายในการควบคุมคุณภาพ โดยมีการฝึกอบรมพนักงาน, มีการกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในการทำงาน, มีการสลับหน้าที่การทำงานและการกำหนดบทบาทหน้าที่ในการทำงานของบุคลากรในองค์กร เป็นต้น2. ระบบประมวลผลรายการ ได้แก่ข้อมูลเงินเดือน, ข้อมูลการประมวลผลการสั่งซื้อ, ข้อมูลบุคลากร ข้อมูลที่ได้จากระบบประมวลผลรายการ ได้แก่- ข้อมูลเงินเดือน ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าจ้าง, ค่าประกันสุขภาพ และเงินสวัสดิการต่างๆของบุคลากรในองค์กร โดยข้อมูลที่ระบบประมวลผลรายการได้รับอาจได้แก่ชั่วโมงการทำงาน อัตราค่าจ้างของพนักงาน และทำการคำนวณเงินเดือนค่าจ้างออกมาให้ - ข้อมูลการสั่งซื้อของพนักงานขายสามารถนำมาใช้ในการวางแผนงานการกำหนดบุคลากรได้ โดยพิจารณาจำนวนพนักงานขายที่ต้องการ ในการให้บริการหรือขายสินค้าขององค์กรที่จะมีการขยายตัวต่อไปในอนาคต - ข้อมูลบุคลากร ใช้ในการแบ่งระดับทักษะในการทำงาน โดยพิจารณาจากประสบการณ์การทำงาน, การประเมินประสิทธิภาพในการทำงาน, และสารสนเทศอื่นๆ ช่วยในการวางแผนงานการกำหนดงานให้กับพนักงานในด้านต่างๆ3. แหล่งข้อมูลภายนอก ได้แก่ข้อมูลเงินเดือนขององค์กรอื่น, ข้อมูลสถิติการว่าจ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการกำหนดอัตรา ค่าจ้างหรอเงินเดือนให้กับพนักงานในองค์กรได้ ข้อมูลเหล่านี้อาจได้จากบริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนาในด้านเงินรายได้หรืออาจได้จากอินเทอร์เน็ตที่มีการสรุปข้อมูลของบริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนาทางด้านเงินเดือนก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถศึกษาได้จากข้อกำหนดทางด้านกฎหมายเรื่องค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ โดยพิจารณาตามแหล่ง ข้อมูลท้องถิ่น, สมาคมด้านแรงงานต่างๆ เป็นต้น
ระบบย่อยและผลที่ได้จากระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์
ระบบย่อยในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ ระบบในการวางแผนทรัพยากรมนุษย์, การว่าจ้าง, การฝึกอบรมและการเสริมทักษะและการบริหารเงินเดือนและค่าจ้าง โดยผลลัพธ์ที่ได้จากระบบได้แก่รายงานการวางแผนทรัพยากรมนุษย์, ประวัติการทำงาน, รายงานการเสริมทักษะบุคลากร, การสำรวจเงินเดือน โดยรายงานเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริหารกำหนดงานให้กับพนักงาน เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและ ประสิทธิผล, และช่วยในการจัดตารางการทำงาน เพื่อให้ได้งานตามที่ต้องการได้
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการบัญชี
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านการบัญชี จะสนับสนุนการทำบัญชีให้กับองค์กร โดยในระบบนี้ประกอบด้วยการทำงานที่สำคัญมากมาย เช่น ทำการรวมกลุ่มสารสนเทศในบัญชีรายจ่าย, บัญชีรายรับ , บัญชีเงินเดือน ฯลฯ โดยการใช้ข้อมูลที่ได้จากระบบประมวลผลรายการขององค์กร

ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการระดับกลุ่มงาน
กลุ่มงาน หมายถึง ระบบที่ถูกจัดการของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกัน เพื่อให้ระบบนั้นปฏิบัติงานบางอย่าง โดยมีกลุ่มบทบาทมาตรฐานของความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่มและมีกลุ่มของค่ามาตรฐานซึ่งกำหนดการปฏิบัติงานของกลุ่มนั้นและสมาชิกแต่ละคนในกลุ่ม
แนวคิดของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการระดับกลุ่มงาน
กลุ่มงานที่ประกอบด้วยส่วนที่เหมือนกัน (Homogeneous Workgroups)
หมายถึงกลุ่มงานที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีบทบาทและงานที่ทำเหมือนกัน (ยกเว้นผู้บริหาร) เช่น กลุ่มการ ส่งสินค้าจากคลังสินค้า ซึ่งอาจมีหัวหน้าหนึ่งคน การทำงานแบ่งออกเป็น 2 รอบ แต่ละรอบมีผู้ดูแลรอบละหนึ่งคน พนักงานที่เหลือจะทำงานอยู่ในกลุ่มรอบที่หนึ่งหรือรอบที่สอง การทำงานของพนักงานเหล่านี้จะเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเพิ่มพนักงานขึ้นอีกหนึ่งคนเข้าไปในกลุ่ม จะทำให้ได้งานเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง ถ้าเพิ่มพนักงานคนที่สอง, สาม,สี่ และมากขึ้น เข้าไปในกลุ่มจะได้งานเพิ่มเท่าๆ กันสำหรับพนักงานแต่ละคนระบบสารสนเทศสำหรับกลุ่มงานลักษณะนี้สามารถสร้างได้ง่าย เนื่องจากสมาชิกทุกคนทำงานเหมือนกัน เมื่อระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้นสามารถสนับสนุนการทำงานของพนักงานได้หนึ่งคน ก็เท่ากับสามารถสนับสนุนการทำงานของสมาชิกรายอื่นๆ ในกลุ่มได้เช่นเดียวกัน
กลุ่มงานที่ประกอบด้วยส่วนที่ไม่เหมือนกัน (Heterogeneous Workgroups)
หมายถึงกลุ่มงานที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีบทบาทและงานที่ทำแตกต่างกัน เช่น กลุ่มให้การช่วยเหลือลูกค้า ในกลุ่มมีบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งแตกต่างกัน ในกลุ่มให้ความช่วยเหลือลูกค้าอาจแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือด้านสินค้าประเภทโปรแกรมประมวลผลคำ กลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสินค้าประเภทระบบจัดการฐานข้อมูล กลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับสินค้าประเภทแผ่นงาน หรือกลุ่มที่ทำการฝึกอบรมพนักงานในกลุ่มเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้า การพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับกลุ่มงานลักษณะนี้ทำได้ค่อนข้างยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากระบบจะต้องพยายามที่จะรองรับการทำงานของสมาชิกแต่ละคน ซึ่งมีงานที่ต้องทำแตกต่างกัน
ประเภทของกลุ่มงาน
กลุ่มงาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. กลุ่มงานถาวร (Permanent Workgroups) ได้แก่แผนกหรือการทำงานที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในองค์กร เช่นกลุ่มงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้า2. กลุ่มงานชั่วคราว (Temporary Workgroups) ได้แก่กลุ่มงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง หรือเมื่อมีโอกาสพิเศษเกิดขึ้น เช่นกลุ่มงานเพื่อพัฒนาสินค้าออกใหม่
กลุ่มงานส่วนมากมักจะอยู่ที่เดียวกัน (Single-Site) แต่ในปัจจุบันกลุ่มงานสามารถกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ได้(Distributed) เช่น กลุ่มพนักงานที่ทำงานในสาขาต่างๆ ทั่วโลก โดยระบบสื่อสารข้อมูลสามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของกลุ่มงานที่กระจายอยู่ต่างที่กันได้
ส่วนประกอบของระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการระดับกลุ่มงาน
คุณลักษณะของระบบสารสนเทศเชิงกลุ่ม ได้แก่การที่ผู้ใช้ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือเรียกว่าสมาชิกกลุ่มซึ่งทำงานโดยมีมุมมองบางอย่างและจุดประสงค์ร่วมกัน รูปที่ 19 แสดงระบบสารสนเทศเชิงกลุ่ม เป็นการจัดฮาร์ดแวร์ต่างๆ และเครื่องคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อเข้าด้วยกันผ่านเครื่องข่ายระยะใกล้ (Local Area Network : LAN) โดยผู้ใช้ปฏิบัติตามขบวนการ เพื่อรวบรวม พิมพ์และใช้ข้อมูลร่วมกัน โดยการใช้ฮาร์ดแวร์ที่เชื่อมถึงกัน โดยฮาร์ดแวร์นั้นไม่เพียงแต่ประมวลผลข้อมูลเท่านั้น แต่ยังจัดการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องต่างๆ ด้วย


จุดประสงค์ของระบบสารสนเทศระดับกลุ่มงาน คือเพื่อสนับสนุนการทำงานในระดับกลุ่มงานให้เกิด ประสิทธิผล โดยประสิทธิผลของกลุ่มงานสามารถพิจารณาได้จาก
1. ระบบสามารถให้ผลลัพธ์ได้ตามที่คาดหวังไว้หรือมากกว่า2. สามารถทำให้เกิดความพอใจของสมาชิกในกลุ่มได้3. มีความสามารถในการสนับสนุนการทำงานของกลุ่ม ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
คุณสมบัติของระบบสารสนเทศระดับกลุ่มงาน
ความแตกต่างระหว่างระบบสารสนเทศระดับบุคคลและระดับกลุ่มงาน คือ ระบบสารสนเทศระดับกลุ่มงานต้องสนับสนุนการควบคุมการใช้ข้อมูล, สารสนเทศ, ความรู้ และทรัพยากรอื่นๆร่วมกันได้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกลุ่มงานในการเพิ่มผลของงาน ทำได้โดยการเพิ่มความพยายามและความรู้และปรับปรุงกลยุทธ์ในการทำงานให้ดีขึ้นและสมาชิกในกลุ่มจะต้องได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ทรัพยากรของสมาชิกอื่น หรือกลุ่มงานอื่นได้
การควบคุมการใช้งานร่วมกัน
การควบคุมการใช้งานร่วมกันทำให้สมาชิกของกลุ่มงานสามารถเข้าใช้ทรัพยากรเดียวกันได้ แต่จะต้องไม่ รบกวนการทำงานของสมาชิกหรือกลุ่มงานอื่นและสมาชิกทุกคนในกลุ่มไม่จำเป็นต้องสามารถเข้าใช้ทรัพยากรของกลุ่มได้ทั้งหมด ดังนั้นระบบสารสนเทศระดับกลุ่มงานจะต้องมีส่วนของการรักษาความปลอดภัย เช่น มีการใช้รหัสผ่าน, การใช้บัญชีรายชื่อผู้ใช้หรือรูปแบบอื่นๆที่จำกัดสิทธิ์ในการเข้าใช้งานทรัพยากรต่างๆ ในกลุ่มได้ การใช้งานร่วมกัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
1. การใช้ฮาร์ดแวร์ร่วมกัน
ได้แก่การอนุญาตให้สมาชิกของกลุ่มงานสามารถ เข้าใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ราคาแพง ซึ่งสมาชิกไม่สามารถทำงานของตนได้หากปราศจากความสามารถของอุปกรณ์นั้น เช่น เมื่อสมาชิกในระบบสารสนเทศบุคลากรต้องการใช้เครื่องพิมพ์เลเซอร์ ซึ่งไม่มีทุนพอที่จะซื้อเป็นของตนเอง สามารถที่จะใช้เครื่องพิมพ์ที่มีอยู่ในกลุ่มงานอื่นได้ นอกจากการใช้เครื่องพิมพ์ร่วมกันแล้ว อุปกรณ์ที่สามารถใช้ร่วมกัน ได้แก่ กล้องถ่ายรูป พล็อตเตอร์ และอุปกรณ์แสดงผลอื่นๆ หรือหน่วยความจำสำรองที่มีความจุและความเร็วสูง สามารถนำมาแบ่งเป็นส่วนและให้ผู้ใช้สามารถเข้าใช้งานส่วนนั้นได้อย่างเต็มที่ รูปที่ 20 แสดงการใช้งานฮาร์ดแวร์ร่วมกัน โดยผู้ใช้สำเนาข้อมูลลงในแผ่นดิสก์ และนำไปยังอีกเครื่องหนึ่งเพื่อจัดเก็บหรือพิมพ์ และรูปที่ 21 แสดงการใช้งานฮาร์ดแวร์ร่วมกัน โดยเชื่อมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายระยะใกล้ (Local Area Network : LAN) ซึ่งอนุญาตให้คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งสื่อสารกับอีกเครื่องหนึ่ง และสามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกันได้

2. การใช้ข้อมูลร่วมกัน การใช้ข้อมูลร่วมกันของระบบสารสนเทศที่นำมาใช้ในกลุ่มงาน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
- เพื่อปรับปรุงผลงานแต่ละส่วนได้ดีขึ้น ได้แก่การใช้ข้อมูลร่วมกันเพื่อให้เกิดผลงานของแต่ละส่วนเพิ่มมากขึ้น- เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันของการปฏิบัติงานของกลุ่ม ได้แก่การนำข้อมูลที่ได้จากการทำงานรายวันของกลุ่ม อาจได้จากระบบประมวลผลรายการ หรือระบบอื่นๆมาใช้ร่วมกัน- เพื่อแก้ปัญหาและทำการตัดสินใจระดับกลุ่ม ได้แก่ การใช้ข้อมูลร่วมกันในการแก้ปัญหาหรือ ตัดสินใจ ในการตัดสินใจแต่ละครั้งผู้ร่วมตัดสินใจมีเวลาในการออกความเห็นในที่ประชุมไม่มากทำให้แสดงความคิดเห็นได้ไม่เต็มที่ ระบบสารสนเทศระดับกลุ่มสามารถช่วยให้ผู้เข้าร่วมตัดสินใจแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้นผ่านทางแป้นพิมพ์ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้มีส่วนในการตัดสินใจทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบต่อตำแหน่งงานของตน
ซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนการทำงานเชิงกลุ่ม
ซอฟต์แวร์เชิงกลุ่ม หมายถึง ซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนการทำงานของสมาชิกในกลุ่มธุรกิจที่มีการทำงานร่วมกัน โดยสนับสนุนด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ซอฟต์แวร์เชิงกลุ่มใช้ในคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้การทำงานโต้ตอบกันของมนุษย์ทำได้สะดวกขึ้น โดยปกติแล้วจะทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งมีการเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ของสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มและคอมพิวเตอร์อื่นๆ บนโลก ในปัจจุบันการทำงานของซอฟต์แวร์เชิงกลุ่มอาจนำไปใช้ร่วมกับเครือข่ายอินทราเน็ต ซึ่งเป็นเครือข่ายภายในองค์กร โดยการทำงานหลักของซอฟต์แวร์เชิงกลุ่มได้แก่
1. การใช้สารสนเทศร่วมกัน (Information Sharing)สมาชิกในกลุ่มต้องสามารถใช้สารสนเทศและความรู้ร่วมกันเพื่อให้สามารถทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว และคอมพิวเตอร์ส่วนรวมได้ เช่นการนำชุดซอฟต์แวร์เชิงกลุ่ม เช่น โลตัสโน้ต(Lotus Notes) ของบริษัทไอบีเอ็ม สามารถใช้สารสนเทศซึ่งประกอบด้วยเอกสารสื่อผสม (Document Multimedia) ได้แก่ข้อความ รูปภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหว ร่วมกันได้ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม โดยสมาชิกสามารถบันทึกสารสนเทศใหม่, ใช้แบบฟอร์ม และการเรียกใช้สารสนเทศโดยใช้คำสำคัญได้ โดยโลตัสโน้ตมี คุณสมบติในการสำเนาชุดข้อมูล (Replication) การ ปรับปรุงสารสนเทศในเครื่องที่อยู่ระยะไกลเมื่อมีการป้อนสารสนเทศใหม่เข้าไปในระบบได้อย่างอัตโนมัติ การใช้ซอฟต์แวร์เชิงกลุ่มทำให้สมาชิกในกลุ่มสามารถรวบรวมสารสนเทศตามหัวข้อที่ต้องการได้, วิจารณ์งานของสมาชิกอื่นและรวบรวมสารสนเทศของกลุ่มได้ 2. การเขียนเอกสาร (Document Authoring)ในกลุ่มงานจำเป็นต้องมีการผลิตเอกสารทางในการดำเนินการ, รายงาน หรือข้อเสนอทางธุรกิจ ดังนั้นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในกลุ่มจึงต้องสามารถผลิตเอกสารสื่อผสมต่างๆ ได้แก่เอกสารที่ประกอบด้วยข้อความ,แผนภาพ และรูปภาพได้ โดยสมาชิกสามารถแทรกข้อความเพิ่มเติมและเสียงวิจารณ์ต่อท้ายเอกสารนั้นๆ ได้ หรืออาจมีคุณสมบัติในด้านการนำเสนอผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีของไฮเปอร์เท็กซ์(Hypertext) และไฮเปอร์มีเดีย(Hypermedia) เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงไปยังเอกสารหรือสื่อผสมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารที่กำลังอ่านอยู่ด้วยก็ได้ 3. ระบบการรับ-ส่งข้อความ (Messaging Systems)ได้แก่ระบบที่สนับสนุนการทำงานของการใช้บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Mail: E-Mail) ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งข้อความระหว่างภายในหรือภายนอกกลุ่มงานก็ตาม เพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างการประชุมได้ โดยระบบการรับ-ส่งข้อความที่ใช้จะต้องสามารถจัดการในเรื่องของรายชื่อของผู้ที่จะได้รับข้อความได้, มีการเตือนเมื่อมีข้อความเข้ามาใหม่, มีการยืนยันกลับเมื่อได้รับข้อความแล้วและอาจมีความสามารถในการติดตามการรับ-ส่ง ข้อความที่ผ่านมาแล้วได้ ในบางระบบสามารถให้ผู้ใช้กำหนดโครงสร้างของการสื่อสารด้วยข้อความได้ เช่น กำหนดให้มีการเตือนสมาชิกในกลุ่มเมื่อถึงกำหนดส่งงานได้ 4. การอภิปรายทางคอมพิวเตอร์ (Computer Conference)ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานของกลุ่ม โดยโปรแกรมที่สนับสนุนการอภิปรายกลุ่มอาจมีคุณสมบัติในการ แลกเปลี่ยนรายงานความก้าวหน้า และการอภิปรายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการแลกเปลี่ยนข้อความระหว่างสมาชิกในกลุ่มได้ โดยข้อความในการอภิปรายจะถูกบันทึกไว้และสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มสามารถค้นหาและอ่านข้ออภิปรายที่เกิดขึ้นได้ และผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีสารสนเทศที่มีประโยชน์เกี่ยวกับ ข้ออภิปรายนั้นสามารถทำการให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ความกระจ่างต่อข้ออภิปรายนั้นได้ 5. การทำปฏิทินกลุ่ม (Group Calendaring)ได้แก่คุณสมบัติในการติดตามตารางนัดหมายของสมาชิกแต่ละคน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดตารางการนัดพบกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องการนัดพบกลุ่มการผลิต สามารถป้อนรายชื่อของผู้ที่ต้องการนัดพบให้กับระบบ ระบบจะทำการตรวจสอบตารางนัดหมายของบุคคลเหล่านั้นว่าว่างช่วงใด เมื่อตรวจสอบพบจะทำการกำหนดการนัดหมายลงในช่วงเวลานั้นให้โดยอัตโนมัติและร้องขอการยืนยันกลับจากส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 6. การจัดการโครงงาน (Project Management)ได้แก่คุณสมบัติในการติดตามความก้าวหน้าของโครงงาน โดยเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการโครงงานได้แก่ แกนต์ชาร์ต (Gantt Chart) ซึ่งแสดงลำดับการทำงานต่างๆ ของโครงงาน ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ด้วยกราฟแท่ง แนวนอนและแสดงสถานะของโครงงานในขณะนั้นว่าเสร็จสิ้นแล้ว, กำลังดำเนินการอยู่หรือเกินกำหนดไปแล้วได้ ทำให้สามารถคำนวณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น 7. การสนับสนุนการสร้างกลุ่มงาน (Support for Team Building)ได้แก่เครื่องมือที่ช่วยกำหนดนโยบายร่วมของกลุ่ม โดยบริหารเรื่องการสอบถามความต้องการของสมาชิกกลุ่ม เพื่อกำหนดรูปแบบการสื่อสารระหว่างกัน, การกำหนดข้อบังคับในการทำงานกลุ่มและการหาผู้นำกลุ่ม โดยให้เลือกชื่อ ผู้นำกลุ่มที่ต้องการ เป็นต้น

การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
การเข้าใจขั้นตอนในการพัฒนาระบบเป็นเรื่องสำคัญไม่เฉพาะกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศเท่านั้น ในระบบธุรกิจปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการ หรือพนักงานทั่วไปต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยใช้ระบบสารสนเทศทางธุรกิจทั้งสิ้น ระบบสารสนเทศที่ประสบผลสำเร็จจะต้องได้รับความร่วมมือต่างๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ระดับสูงหรือผู้ใช้ระดับล่างก็ตาม
วงจรการพัฒนาระบบ
การเข้าใจขั้นตอนในการพัฒนาระบบเป็นเรื่องสำคัญไม่เฉพาะกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบสารสนเทศเท่านั้น ในระบบธุรกิจปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการ หรือพนักงานทั่วไปต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยใช้ระบบสารสนเทศทางธุรกิจทั้งสิ้น ระบบสารสนเทศที่ประสบผลสำเร็จจะต้องได้รับความร่วมมือต่างๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ระดับสูงหรือผู้ใช้ระดับล่างก็ตาม
วงจรการพัฒนาระบบ
ขบวนการในการพัฒนาระบบเรียกว่าวงจรชีวิตในการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle : SDLC) โดยแต่ละระบบที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นจะเริ่มขบวนการในการสร้างไปจนกระทั่งถึงกำหนดที่วางไว้และขั้นตอน สุดท้ายคือการติดตั้งระบบและเกิดการยอมรับระบบ ชีวิตของระบบยังรวมไปถึงขั้นตอนในการดูแลรักษาและการทดลองใช้ด้วย ถ้าระบบจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงภายใต้ข้อกำหนดของการดูแลรักษา ถ้าระบบเก่าจำเป็นต้องถูกแทนที่เนื่องจากมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น หรือถ้าองค์กรมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบ โครงงานใหม่และวงจรชีวิตของระบบก็จะเริ่มต้นขึ้น วงจรชีวิตของการพัฒนาระบบมักจะแบ่งออกเป็น 5 ระยะได้แก่ การศึกษาระบบ, การวิเคราะห์ระบบ, การ ออกแบบระบบ, การนำระบบไปใช้งาน และการดูแลรักษาระบบ ดังรูปที่ 22 ซึ่งแสดงวงจรชีวิตของการพัฒนาระบบที่เริ่มจากระยะที่หนึ่ง ไปจนกระทั่งถึงระยะสุดท้าย โดยในแต่ละระยะสามารถกลับมาเริ่มต้นทำระยะก่อนหน้าได้เสมอหากมีส่วนที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติม หรือปรับปรุง



การศึกษาระบบ
ได้แก่การหาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร คุ้มค่าแก่การแก้ไขหรือไม่ ผลที่ได้จากขั้นตอนนี้คือโครงงานระบบ สารสนเทศจะถูกกำหนดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหรือเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ เป็นการประเมินระบบในด้านเทคนิค, ด้านการปฏิบัติการ, ด้านการจัดตาราง, และความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ได้แก่
- ด้านเทคนิค เป็นการพิจารณาว่าในการพัฒนาระบบนี้ จะต้องมีการจัดเตรียมฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ และ องค์ประกอบอื่นๆอะไรอีกบ้าง- ด้านปฏิบัติการ เป็นการพิจารณาว่าโครงการสามารถนำไปปฏิบัติได้หรือไม่ เนื่องจากระบบใหม่ที่จะนำ เข้ามาใช้นั้น จะต้องพิจารณาในแง่ของการยอมรับของบุคลากรที่ทำงานอยู่เดิมด้วย หากเกิดการต่อต้านอาจทำให้งานไม่ประสบผลตามที่คาดหวังไว้ได้- ด้านการจัดตาราง พิจารณาในแง่ของระยะเวลาที่ใช้ในการพัฒนาโครงการ ว่ามีการใช้เวลาและทรัพยากรในระดับที่ยอมรับได้หรือไม่- ด้านเศรษฐกิจ พิจารณาว่าโครงการที่จะพัฒนานี้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับผลกำไรที่จะได้รับหรือไม่
ผลลัพธ์ที่ได้จากขั้นตอนการศึกษาระบบ จะเป็นรายงานที่สรุปผลของการศึกษาระบบและขบวนการของการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ และข้อแนะนำในการปฏิบัติ เช่น ควรจะทำการพัฒนาระบบต่อไปในขั้นตอนการวิเคราะห์ระบบหรือไม่ หรือควรจะแก้ไขการทำงานในส่วนใด หรือควรยกเลิกการทำงานในส่วนใด โดยรายงานที่ได้อาจประกอบไปด้วยข้อมูลต่างๆ เช่น วัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร, ปัญหาและโอกาสที่เกิดขึ้นในระบบ, ความเป็นไปได้ของ โครงการ, ค่าใช้จ่ายของโครงการ, ข้อดีของโครงการ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ เป็นต้น
เทคโนโลยีที่น่าสนใจในระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
การแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
การแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่การสื่อสารข้อมูลในรูปแบบมาตรฐานหรือรูปแบบที่ผู้รับอนุญาตเพื่อที่จะสามารถนำไปดำเนินรายการทางด้านธุรกิจตามมาตรฐาน ระหว่างบริษัทหรือระหว่างชุดโปรแกรมกับชุดโปรแกรมของบริษัทได้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงเครื่องคอมพิวเตอร์ในองค์กรต่างๆ และดำเนินตามมาตรฐานและขบวนการซึ่งอนุญาตให้ผลลัพธ์จากระบบหนึ่ง ถูกประมวลผลโดยตรงเพื่อเป็นข้อมูลนำเข้าไปยังระบบอื่นๆได้ โดยไม่ต้องให้มนุษย์เป็นผู้ดำเนินการระหว่างขบวนการเหล่านี้เลย


ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ของลูกค้า, ผู้ผลิต และแหล่งผลิต สามารถถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ดังรูปที่23 ทำให้สามารถลดจำนวนการใช้เอกสารที่เป็นกระดาษและลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าใช้จ่ายในการ ดำเนินงานผิดพลาดลงได้ การสั่งซื้อหรือคำร้องขอของลูกค้าจะถูกส่งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของลูกค้าไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ผลิตและเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ผลิตเมื่อได้รับคำสั่งซื้อนั้น สามารถพิจารณาได้ว่ามีสินค้าพอหรือไม่ ถ้าต้องผลิตเพิ่มจะทำการส่งคำสั่งซื้อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของแหล่งผลิตอย่างอัตโนมัติ
การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่การดำเนินรายการ (Transaction)ทางด้านธุรกิจผ่านสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างฝ่ายต่างๆ เช่น ระหว่างบริษัท (ธุรกิจกับธุรกิจ) ระหว่างบริษัทกับลูกค้า (ธุรกิจกับผู้บริโภค) ระหว่างธุรกิจกับส่วนงานสาธารณะหรือระหว่างลูกค้ากับส่วนสาธารณะ คนโดยทั่วไปมักคิดว่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หมายถึงการที่ ผู้บริโภคเข้าไปยังเว็บไซท์ใดๆ เพื่อทำการซื้อสินค้าแบบออนไลน์ แต่ในความเป็นจริงแล้วการซื้อขายสินค้าผ่านเว็บไซท์เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น การใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สามารถช่วยให้การ ดำเนินงานในการซื้อ-ขายของบริษัทใหญ่ๆ ทำได้ง่ายขึ้นหรือแม้กระทั่งกับบริษัทเล็กๆ เองก็มีโอกาสที่จะขายสินค้าในราคาต่ำ ในกลุ่มตลาดต่างๆ ทั่วโลก ข้อดีของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค ได้แก่การซื้อสินค้าได้โดยไม่ต้องเบียดเสียดกับฝูงคนมากมายในห้างสรรพสินค้า, สามารถชื้อสินค้าได้ตลอดเวลาที่ต้องการเมื่ออยู่ที่บ้านหรือที่ทำงาน และได้รับสินค้าโดยตรงถึงบ้านไม่ต้องขนส่งเอง


รูปที่24 แสดงตัวอย่างการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในขบวนการสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่จากบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งในการสั่งซื้อโดยทั่วไปแล้วจะเริ่มตั้งแต่พนักงานเขียนคำร้องขอเพื่อสั่งซื้อสินค้าและนำไปผ่านการขออนุมัติการสั่งซื้อ เมื่อผ่านการอนุมัติแล้วจึงนำใบร้องขอนั้นไปทำเป็นแบบสั่งซื้ออย่างเป็นทางการและส่งไปยังผู้ขายสินค้าที่ต้องการ ขบวนการเหล่านี้สามารถสำเร็จได้โดยง่ายเมื่อใช้พาณิชย์อิเล็กทอรนิกส์ โดยพนักงานสามารถไปยังเว็บไซท์ของผู้ขายเฟอร์นิเจอร์ และเลือกสินค้าที่ต้องการจากรายการสินค้าในเว็บไซท์นั้นๆ และทำการสั่งซื้อสินค้าตามราคาที่ ตกลงไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ถ้าการสั่งซื้อต้องผ่านการอนุมัติก่อน ผู้อนุมัติจะได้รับการแจ้งให้ทราบถึงการสั่งซื้อนี้ จากความสะดวกสบายต่างๆ ทั้งในด้านของผู้ดำเนินธุรกิจและในด้านของผู้บริโภค ในปัจจุบัน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จึงมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

สรุป
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการเป็นการรวมกลุ่มของฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์, คน, ขบวนการ, ฐานข้อมูล และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการจัดการกับข้อมูลและสารสนเทศช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้ โดยระบบสารสนเทศเพื่อการ จัดการจะช่วยให้ผู้จัดการมองเห็นภาพรวมของการปฏิบัติงานขององค์กร ทำให้สามารถควบคุม, จัดการและวางแผน การปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ระบบสารสนเทศขององค์กร อาจประกอบด้วยระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการด้านต่างๆ ในองค์กร เช่น ด้านการเงิน, การตลาด, การผลิตฯลฯ โดยแต่ละระบบต้องการข้อมูลเข้าที่แตกต่างกัน, ประกอบด้วยระบบย่อยๆ ที่สนับสนุนการทำงานด้านนั้นๆ ที่แตกต่างกันและยังให้ผลลัพธ์ของระบบที่แตกต่างกันอีกด้วย ส่วนขั้นตอนของการพัฒนาระบบสารสนเทศ แต่ละระบบจะเป็นไปตามวงจรชีวิตของการพัฒนาระบบ โดยจะเริ่มที่การศึกษาระบบเพื่อค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้น, การวิเคราะห์ระบบ เพื่อเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและสิ่งที่ต้องพัฒนา, การออกแบบระบบ ซึ่งแบ่งออกเป็นการออกแบบเชิงตรรกะและการออกแบบทางกายภาพ เพื่อกำหนดวิธีการในการพัฒนาระบบ, การนำไปใช้ ได้แก่การพัฒนาระบบตามที่ได้ออกแบบไว้และนำระบบที่พัฒนาขึ้นไปใช้และขั้นสุดท้ายเป็นการดูแลรักษา เพื่อตรวจสอบและแก้ไขระบบ เมื่อมีข้อผิดพลาดหรือมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: